วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กับการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ โดยมี นายมาณิช อินทฉิม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ กล่าวรายงาน และ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมและบทบาทของ สกสว. ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้บริหารหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมพิธีเปิด
ทั้งนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการจัดนิทรรศการในครั้งนี้ เพื่อแสดงผลงานวิจัยของหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยเป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับ สกสว. ซึ่งได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงงานรัฐสภา ในฐานะกลไกของฝ่ายนิติบัญญัติในการสนับสนุนบทบาทและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการพิจารณากฎหมาย การกำกับตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี และการให้ความเห็นชอบเรื่องสำคัญ ๆ ของประเทศ โดยการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานในการเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัย เป็นการเพิ่มช่องทางในการสืบค้นข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้กับสมาชิกรัฐสภาสามารถนำผลงานวิจัยไปใช้ประกอบการดำเนินงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ผ่านช่องทางทั้ง Onsite และ Online นอกจากนี้ ผลงานวิจัยที่นำเสนอในนิทรรศการ เป็นผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อประชาชนและประเทศชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ในการนี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ และ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ได้ร่วมเปิดมุมคอมพิวเตอร์จอภาพสัมผัสเพื่อสืบค้นข้อมูลงานวิจัยหน้าห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร และมุมเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยในหอสมุดรัฐสภา พร้อมทั้งร่วมชมการจัดแสดงนิทรรศการ โดยมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและผู้บริหารหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมชมการจัดแสดงนิทรรศการด้วย
สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือในการขับเคลื่อนนโยบายยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในทุกมิติ ซึ่งจัดแสดงระหว่างวันที่ 11 - 26 ก.ค. 65 โดยนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประเด็นสำคัญ อาทิ การแพทย์และสุขภาพ อาหารมูลค่าสูง เศรษฐกิจฐานราก และสังคมคาร์บอนต่ำ รวมทั้งเป็นการเปิดพื้นที่ในการส่งต่อผลงานวิจัยไปยังผู้มีส่วนได้เสียทุกพื้นที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการต่อยอดการพัฒนาเพื่อสร้างรายได้และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ในวันที่ 25 ก.ค. 65 จะมีการประชุมเชิงนโยบายใน 2 หัวข้อเรื่อง คือ "พิเคราะห์ พ.ร.บ. โรคติดต่อ 2558" จากสถานการณ์โควิด-19 ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปรับปรุง" และ "สถานะสุขภาพคนไทยจากปัญหามลพิษทางอากาศ ความท้าทายใหม่ของต้นทุนการพัฒนาระยะยาว" เพื่อเป็นช่องทางสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคนโยบายและหน่วยงานดำเนินการภาคปฏิบัติ นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว สกสว. ได้ติดตั้งคอมพิวเตอร์และจอภาพแบบสัมผัสบริเวณหน้าห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและอำนวยความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลวิจัยให้สมาชิกรัฐสภา และมีโครงการยกระดับกลไกในการเชื่อมโยงงานวิจัยและนวัตกรรมกับฝ่ายนิติบัญญัติ โดยเป็นรูปแบบการจัดมุม ววน. ในหอสมุดรัฐสภา ชั้น 9 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลวิจัยให้สะดวกแก่การสืบค้น ทั้งการสืบค้นจากเอกสารบนชั้นวาง และสืบค้นจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ
สำหรับผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย (PMU) ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์การมหาชน สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ และสถาบันวัคซีนแห่งชาติ รวมทั้งงานของมหาวิทยาลัย และหน่วยรับงบประมาณอื่น ๆ
ทั้งนี้ งานที่คัดเลือกมาจัดแสดงนั้นจะมีความโดดเด่น มีการใช้ประโยชน์ เป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก และ Health and Well-Being โดยมีผลงานที่เป็นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการบริหารจัดการ และนวัตกรรมทางสังคมอีกหลายด้าน และเนื้อหาภายในนิทรรศการจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียน 2 รอบ และนอกจากจะเป็นโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องในภาคนโยบายและ ส.ส. ได้เห็นผลงานของระบบ ววน. ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ที่ ส.ส. ดูแลแล้ว ยังเป็นโอกาสที่หน่วยงานในระบบ ววน. จะได้รับโจทย์และความต้องการจากภาคนโยบาย และ ส.ส. ผู้ใกล้ชิดประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมหรือนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนโดยรวมต่อไป
|