|
|
วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 16.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายอดิศร เพียงเกษ ประธานกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาล แถลงข่าวผลการลงมติญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเห็นชอบและแจ้งให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ตามที่วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาญัตติดังกล่าว ซึ่งสภาฯ มีมติ 262 ต่อ 162 เสียง ไม่เห็นชอบที่จะส่งญัตติดังกล่าวไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนถึงผลการลงมติดังกล่าวทางพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยนายอดิศร เพียงเกษ กล่าวว่า ญัตติเกี่ยวกับการจัดทำประชามติผลการลงคะแนนเป็นไปตามที่สื่อมวลชนรับทราบ ญัตตินี้ทางรัฐบาลได้ประชุมกันถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกคิดว่าจะนำญัตติอื่นมาพิจารณาโดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้มีโอกาสพูดในสภาฯ เหมือนวันนี้ แต่การประชุมเมื่อเช้านี้รัฐบาลเห็นว่าเรื่องนี้มีความสำคัญหากมีรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลเห็นไปในทางใดทางหนึ่งจะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ และอาจจะก้าวล่วงไปถึงว่าพรรคเพื่อไทยหรือทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลไม่ใส่ใจในเรื่องทำประชามติ และไม่ใส่ใจที่จะแก้รัฐธรรมนูญ จึงมีมติให้ญัตติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาการประชุมใช้เวลาพิจารณาเกือบ 4 ชม. ผลตามที่ทราบกัน
จากนั้น นายชูศักดิ์ ศิรินิล กล่าวว่า การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการทำประชามติเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว พี่น้องสื่อมวลชนก็ทราบดีว่าขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา2 ชุด ชุดแรกให้ศึกษาว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง ชุดที่สองศึกษารายละเอียดว่ากระบวนการหลังจากทำประชามติแล้วจะเดินต่อไปอย่างไรเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่มีหลักประกันว่ารัฐบาลจะทำจริง ทำแน่นอน ที่เรียนเช่นนั้นเพราะว่ารัฐบาลได้ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล พี่น้องสื่อมวลชนคงทราบดีเมื่อคราวแถลงนโยบายของรัฐบาล และในขณะเดียวกันการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกก็มีมติคณะรัฐมนตรีให้ทำประชามติและตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องนี้เพราะฉะนั้นโดยหลักแล้วเราคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลทำน่าจะเดินหน้าต่อไป สำหรับญัตติที่ฝ่ายค้านนำเสนอว่ากันแล้วไม่ถึงที่สิ้นสุดอะไร เหตุผลเพราะว่าอ้างกฎหมายประชามติ มาตรา 9 (4) ซึ่งกฎหมายประชามติเขียนว่าเมื่อรัฐสภามีมติเห็นชอบให้เสนอรัฐบาลเพื่อทำประชามติ รัฐสภาในที่นี้ต้องประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพราะฉะนั้นแม้สภาผู้แทนราษฎรมีมติประการใดก็ตามมตินั้นต้องนำส่งวุฒิสภา หากวุฒิสภาเห็นชอบ ก็ส่งไปยังรัฐบาล หากวุฒิสภาไม่เห็นชอบท้ายที่สุดแล้วก็ส่งไปสู่รัฐบาลไม่ได้ อย่างไรเสียฟังจากถ้อยแถลงของรัฐบาล รัฐบาลบอกว่ายินดีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเต็มที่ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสอบถามรับฟังจากส่วนต่าง ๆ รัฐบาลเปิดกว้างเช่นนี้ก็สามารถที่จะส่งความเห็นทั้งหลายไปให้รัฐบาลได้ ไม่จำเป็นต้องผ่าน พ.ร.บ.ประชามติ แล้วพรรคร่วมรัฐบาลเห็นด้วยว่าต้องทำประชามติต้องทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นเพียงแต่วิธีการทำเราคิดว่าการทำโดยรัฐบาลจะสามารถทำได้สำเร็จ เนื่องจากประสบการณ์การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ผ่านมา พบว่าถ้ารัฐบาล และวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็ไม่มีทางสำเร็จได้ เชื่อว่าขณะนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ข้อสำคัญที่ไม่ส่งญัตตินี้เพราะมีหลายเรื่องในญัตติที่มีความขัดแย้งกันอยู่กับความคิดเห็นของพรรคการเมืองส่วนใหญ่และกับความคิดเห็นของรัฐบาล ที่ขัดแย้งกันมากที่สุดคือการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับมีความหมายอย่างไร ความหมายของผู้เสนอญัตติมีความหมายว่าแก้ทั้งฉบับ แก้ได้ทุกเรื่อง แก้ได้ทุกหมวด แต่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่าจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับไม่รวมหมวด 1 หมวด 2 และรัฐบาลประกาศจุดยืนมาแล้วก่อนหน้านี้ หากส่งไปก็เปล่าประโยชน์เพราะรัฐบาลก็คงจะไม่เห็นด้วยเนื่องจากความเห็นเรื่องนี้เป็นความเห็นที่ขัดแย้งไม่ลงรอยกันอยู่ ซึ่งไม่ลงรอยกันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2563 ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 จนมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโดยรวมคิดว่าให้รัฐบาลทำหน้าที่ไป และมีความหวังว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม
นายภราดร ปริศนานันทกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอยืนยันว่าการลงมติในวันนี้ที่คะแนนเสียง 262 ต่อ 162 ไม่ได้หมายความว่าพวกเราพรรคร่วมไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อสอบถามพี่น้องประชาชนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่หมายความว่าพวกเรากอดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่เป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการ แต่พวกเราเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นและเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของพี่น้องประชาชนโดยมาจาก ส.ส.ร. สิ่งที่ไม่เห็นด้วยกับญัตติมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1) ขณะนี้รัฐบาลมีคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบแล้วและคณะกรรมการชุดนี้มาจากทุกพรรคการเมืองนอกจากตัวแทนฝ่ายการเมืองแล้วยังมีตัวแทนของนักวิชาการเข้าร่วมด้วย นั่นหมายความว่าคณะกรรมการชุดนี้มีความน่าเชื่อถือต่อสังคมมากพอสมควรที่จะดำเนินการให้เราได้ 2) พวกเราไม่เห็นด้วยเพราะว่าในส่วนของเนื้อหาสาระ ของคำถามที่จะส่งให้ทางรัฐบาลในญัตติของนายพริษฐ์ ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคที่ประกาศเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 แต่ญัตติของนายพริษฐ์ จะให้แก้ไขทั้งฉบับซึ่งนั่นขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของพวกเราแม้ว่านายพริษฐ์บอกว่าไม่จำเป็น ที่เขียนไว้เช่นนี้อาจจะไม่มีการแก้ก็ได้แต่ไม่มีใครรับรองได้ว่าอาจจะมีการแก้ได้เช่นเดียวกันเพราะฉะนั้นเพื่อความรอบคอบในการที่จะไม่ผิดคำว่าสัญญาต่อพี่น้องประชาชนว่าเราจะไม่แก้หมวด 1 และ 2 เราจึงไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ 3) ในเรื่องของการตั้ง ส.ส.ร. เราค่อนข้างยังไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ทั้งร้อยละ 100 ให้มาจากการเลือกตั้ง เพราะเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายมหาชนควรที่จะเกิดขึ้นจากพี่น้องประชาชนในหลากหลายสาขาอาชีพ เราไม่มีอะไรที่จะยืนยันได้เลยว่าการเลือกตั้งร้อยละ 100 จะได้บุคคลที่มาจากทุกสาขาอาชีพและคนหลากหลาย นี่คือ 3 เหตุผลหลักที่พวกเราไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติเพื่อสอบถามพี่น้องประชาชนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|