วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม 2566 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองประธานคณะ กมธ. แก้ปัญหาหนี้สิน ความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ คนที่สอง น.ส.ปิยะนุช ยินดีสุข นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ โฆษกคณะกมธ. นายสุรพันธ์ ไวยากรณ์ โฆษกคณะ กมธ. นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร เลขานุการคณะกมธ. และคณะ ร่วมกันแถลงข่าว ผลการประชุมคณะ กมธ. ซึ่งได้มีการประชุมคณะ กมธ.จำนวน 4 ครั้ง และได้กำหนดกรอบการดำเนินงาน ออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านการประชุม คณะกมธ.ได้มีการกำหนดประเด็นเพื่อพิจารณาปัญหาหนี้สินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล หรือประเด็นที่ความจำเป็นที่ควรได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน รวมถึงประเด็นติดตามผลการดำเนินงานที่คณะกรรมาธิการ ชุดที่ 25 ที่ได้มีการพิจารณาแล้ว เพื่อให้การดำเนินงานและการแก้ไขปัญหาของประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 2. ด้านการจัดสัมมนา คณะกมธ.เห็นควรให้มีการจัดสัมมนาเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นให้จัดสัมมนาในภาพรวมหรือตามภูมิภาค เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึง รวมทั้งคณะ กมธ.ได้รับพังสภาพปัญหา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ และ นำปัญหาดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ เพื่อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 3. ด้านการศึกษาดูงาน คณะกมธ.เห็นควรให้มีการเดินทางไปศึกษาดูงานในพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เพื่อรับทราบปัญหา แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงข้อสังเกตและข้อเสนอแนะกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ เพื่อนำข้อมูลจากการศึกษาดูงานมาต่อยอดและปรับใช้กับการดำเนินงานของคณะกมธ.ต่อไป
ที่ประชุม ได้มีการพิจารณาติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นปัญหาหนี้สินที่คณะกมธ.เห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนและควรได้รับการแก้ไขปัญหาโดยด่วนและได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งมีประเด็นดังนี้ 1. พิจารณาติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมทางการศึกษา (กยศ.) คณะกมธ.ได้รับทราบปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างการดำเนินงาน ระบบการตัดชำระหนี้ การคำนวณยอดหนี้ที่ขาดความชัดเจนและข้อมูลในระบบยังไม่เป็นปัจจุบัน รวมทั้งช่องทางการติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่มีน้อย คณะกรรมาธิการจึงมีข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว และทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในฐานะผู้กำกับดูแล กยศ. เร่งรัดดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป 2. พิจารณาติดตามการดำเนินงานเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร คณะกมธ.ได้รับทราบข้อมูลว่าหน่วยงานภาครัฐได้มีมาตรการและนโยบายในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและลูกหนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาล การพัฒนาศักยภาพ เพื่อฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส. เพื่อเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรนำเงินไปลงทุนเพื่อขยายโอกาสในการประกอบอาชีพซึ่งทำให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว 3. พิจารณาการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ และข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของแรงงานไทยที่เดินทางไปประกอบอาชีพในประเทศอิสราเอล คณะกรรมาธิการได้รับทราบถึงสาเหตุการเกิดหนี้นอกระบบ ได้แก่ ลูกหนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้ การกำหนดคุณสมบัติของลูกหนี้ ระยะเวลาอนุมัติเงินกู้ส่งผลให้ลูกหนี้ต้องอาศัยแหล่งเงินกู้นอกระบบแทน และลูกหนี้ไม่มีความสามารถในการชำระหนี้และไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยได้ คณะกรรมาธิการจึงได้มีข้อเสนอแนะ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรหาช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ไนระบบได้ และการกำหนดเงื่อนไขไม่ยุ่งยาก รวมถึงเสนอแนะให้หน่วยงานเร่งปราบปรามการปล่อยเงินกู้นอกระบบในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนและมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด นอกจากนี้ ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติมอบหมายให้คณะกรรมาธิการพิจารณาญัตติ เรื่อง "ญัตติเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาค่าครองชีพสูงและปัญหาหนี้สินครัวเรือนฯ" ซึ่งมีญัตติในทำนองเดียวกันอีก 4 เรื่อง โดยกำหนดระยะเวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 คณะกมธ.ได้มีมติ ตั้งคณะอนุกมธ.ขึ้นมาคณะหนึ่ง คือ คณะอนุกมธ.พิจารณาศึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน และปัญหาค่าครองชีพสูง เพื่อพิจารณาญัตติดังกล่าว และเมื่อพิจารณาแล้วเสร็จจะรายงานผลการพิจารณาศึกษาต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
|