|
|
วันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ให้การรับรอง H.E. Mr. Bernd Lange ประธานคณะ กมธ.ด้านการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภายุโรป และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 18 - 20 ธันวาคม 2566 เพื่อหารือเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป โดยมี นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะ กมธ. การพัฒนาเศรษฐกิจ นายพงษ์สรณัฐ ทองลี เลขานุการรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นายไกลก้อง ไวทยการ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ณัฐชลัยกร ศิริจํารูญวิทย์ คณะทำงานรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง ร่วมให้การรับรอง
รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวต้อนรับประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภายุโรป และคณะ และกล่าวถึงความสัมพันธ์ของไทยและสหภาพยุโรปที่ดำเนินมาด้วยดีเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ต้องชะงักไปเพราะการระบาดของ COVID-19 ทั้งนี้ ไทยกำลังเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ในหลาย ๆ เรื่องภายหลังการเลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภาชุดปัจจุบัน ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างมาก รวมทั้งมีการผลักดันร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการใช้กฎหมายนี้ ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ปัจจุบันรัฐสภาไทยได้เปิดกว้างมากขึ้น โดยเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าเยี่ยมชมรัฐสภาและการประชุมรัฐสภาได้ อีกทั้งยังให้ความสำคัญเรื่องรัฐสภาสีเขียว (Green Parliament) และเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยหวังว่าในอนาคตไทยและสหภาพยุโรปจะมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องดังกล่าว รวมถึงความร่วมมือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยคาร์บอนด้วย สำหรับด้านเศรษฐกิจ ไทยประสงค์ให้ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปเพิ่มปริมาณการค้าและการลงทุนในไทยมากขึ้น
ประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศของรัฐสภายุโรป กล่าวขอบคุณและกล่าวว่าได้ติดตามพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของไทยมาโดยตลอด ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงภายหลังการเลือกตั้งของไทย นับเป็นเรื่องที่ดีที่ไทยริเริ่มทำสิ่งใหม่ในหลาย ๆ เรื่อง สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงานสองฝ่ายสามารถหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้ สหภาพยุโรปมีผู้ดูแลเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ในการนี้ นางไฮดี ฮาวทาลา รองประธานรัฐสภายุโรป ยังมีความเห็นว่าสองฝ่ายควรทำงานร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน รวมถึงด้านเศรษฐกิจด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันสหภาพยุโรปกำลังให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันสืบเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมหาศาลของยุโรป
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันถึงกรณีสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งสหภาพยุโรปคาดหวังให้ไทยให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ทั้งนี้ ไทยได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมามาโดยตลอด และมีจุดยืนต่อกรณีเมียนมาตามมติของอาเซียน เครดิตข่าว : กลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|