เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2567 คณะผู้แทนรัฐสภาไทย ประกอบด้วย นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ สมาชิกวุฒิสภา ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล สมาชิกวุฒิสภา และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (The 148th IPU Assembly and related meetings) ระหว่างวันที่ 23 - 27 มีนาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุม CICG นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส  โดยสรุปภารกิจของคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมวันที่สี่ ได้ดังนี้

1. ที่ประชุมสหภาพรัฐสภาได้รับฟังการกล่าวถ้อยแถลงของผู้แทนจากประเทศสมาชิกในช่วงการอภิปรายทั่วไป (General Debate) กลุ่มผู้อภิปรายที่มิได้ตำแหน่งประธานรัฐสภา (List C) และกลุ่มผู้อภิปรายที่เป็นสมาชิกยุวสมาชิกรัฐสภา (List D) ซึ่งได้รับการจัดสรรเวลาสำหรับกล่าวถ้อยแถลงประเทศละ 2 นาที ภายใต้หัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาในครั้งนี้คือ " Parliamentary diplomacy: Building bridges for peace and understanding โดยนางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามยุวสมาชิกรัฐสภาของไทย สรุปความได้ว่า ไทยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทูตรัฐสภาในการสร้างสันติภาพ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนสำหรับทุกคนโดยเฉพาะในบริบทของโจทย์ความท้าทายของโลกในปัจจุบันที่แปรผันอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินความร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการเสริมสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจและการเคารพซึ่งกันและกัน ไทยเชื่อว่าสันติภาพที่ยั่งยืนไม่อาจตั้งมั่นอยู่ได้หากปราศจากการพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ไทยยังยึดมั่นในระบบพหุภาคีนิยมผ่านอาเซียนที่เป็นกลไกสำคัญแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมียนมา โดยรัฐสภาไทยสนับสนุนความริเริ่มของรัฐบาลไทยในการจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรมร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรเพื่อยกระดับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ได้รับผลกระทบ โดยยุวสมาชิกรัฐสภาของไทยพร้อมที่จะใช้การทูตรัฐสภาขับเคลื่อนวาระสำคัญของ IPU ผ่านความเป็นหุ้นส่วนกับมิตรประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับ
จากนั้น คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 15 ประเทศ นำเสนอการดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามข้อมติ มติ หรือ ข้อเสนอแนะของสหภาพรัฐสภาที่ผ่านมา ในช่วง Special Accountability Segment ของการประชุมสมัชชา โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอในหัวข้อ Parliamentary engagement for the promotion of inclusive societies ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการตามข้อมติของ IPU ที่ผ่านมาในการส่งเสริมสังคมที่โอบรับความหลากหลายและเปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่ม รวม 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียม ในวันเดียวกันนั้น สภาผู้แทนราษฎรของไทยกำลังพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่บรรลุกฎหมายสมรสเท่าเทียม และนับเป็นชัยชนะของชุมชน LGBTQA+ ทั่วโลก 2) นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรไทยยังได้รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อประกันสิทธิในการแสดงออกด้านภาษาและวัฒนธรรม ตลอดจนสิทธิในที่ทำกิน รวมถึงโอกาสในการศึกษาที่เท่าเทียมของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ และ 3) การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เพื่อยกระดับสิทธิของแรงงานในทุกภาคส่วนในการมีงานที่มีคุณค่า (decent job) รวมถึงสิทธิพ่อลาคลอด (paternal leave) ของสามีในการลาเพื่อช่วยเหลือดูแลภรรยาที่คลอดบุตร ให้ครอบคลุมทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งทั้งสามประเด็นดังกล่าวเป็นการยืนยันในหลักการเพื่อสร้างความยุติธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารไปยังคนรุ่นใหม่ว่า รัฐสภาไทยกำลังพยายามขับเคลื่อนวาระการเมืองเพื่อสร้างโอกาส ทลายกำแพงที่กีดกั้นและแบ่งแยก ตลอดจนสร้างหลักประกันความเท่าเทียม เปิดกว้างและหลากหลาย เพื่อนำไปสู่สังคมที่ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

2. นอกจากนี้ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้ปฏิบัติภารกิจในการประชุมคู่ขนานต่าง ๆ อาทิ
2.1 ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์  ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (The IPU Standing Committee on Sustainable Development) เป็นนัดสุดท้ายเพื่อร่วมลงมติรับรองร่างข้อมติ หัวข้อ "Partnerships for climate action: Promoting access to affordable green energy, and ensuring innovation, responsibility and equity "  ซึ่งที่ประชุมเกี่ยวได้ร่วมกันยกร่างมาเป็นเวลาสองวัน โดยที่ประชุมได้เห็นพ้องในการเน้นย้ำถึงความคาดหวังที่มีต่อบทบาทของภาครัฐสภาในการขับเคลื่อนกลไกและกฎหมายสำคัญเพื่อนำทางไปสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากากาศที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของประชาคมโลกในปัจจุบัน ในการดังกล่าว ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ฯ ได้กล่าวขอบคุณสหภาพรัฐสภา ผู้รายงานร่วม (Reporteurs) และฝ่ายเลขานุการ ที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขันในการรวบรวมความเห็นของรัฐสภาประเทศสมาชิกเข้าไปในร่างข้อมติให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอร่างข้อมติฉบับดังกล่าวให้ที่ประชุมสมัชชาพิจารณารับรองในช่วงท้ายของการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 148 ในวันที่ 27 มีนาคม 2567 พร้อมกันนั้น คณะกรรมาธิการฯ ยังได้เห็นชอบ หัวข้อ "Parliamentary Strategy to mitigate the long-lasting impact of conflicts, including armed conflicts, on sustainable development" เป็นหัวข้อร่างข้อมติฉบับถัดไปซึ่งจะได้มีการอภิปรายเพื่อเตรียมการยกร่างข้อมติในการประชุมสมัชชา ครั้งที่ 149 ต่อไป
2.2 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง  พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (IPU Standing Committee on Democracy and Human Rights) ในวันที่สอง ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ในหัวข้อ “Sustainable actions to improve the life conditions of people with disabilities, including their chances for education and work opportunities” ในการนี้ นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีของไทยในการปกป้องสิทธิและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการ ตลอดจนบทบาทของรัฐสภาไทยในการออกกฎหมายและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชนในด้านสิทธิและความเท่าเทียมของผู้พิการและการต่อต้านการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม โดยได้นำเสนอให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า นอกจาก พ.ร.บ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักในการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้พิการแล้ว ไทยยังได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการแห่งชาติ ฉบับที่ 6 และแผนจัดการการศึกษาสำหรับผู้พิการ ฉบับที่ 4 ตลอดจน ดำเนินโครงการมากมายผ่านกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นกรอบและกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียม การพึ่งพาตนเองได้ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ครอบคลุมทุกมิติตามพันกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของไทยโดยมุ่งเน้นไปที่การประกันโอกาสในการศึกษาและการเลี้ยงชีพของผู้พิการอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
2.3 นายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอนุศาสน์ สุวรรณมงคล ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ (Standing Committee on International Peace and Sceurity) เป็นนัดสุดท้ายเพื่อร่วมลงมติรับรองร่างข้อมติในหัวข้อ Addressing the social and humanitarian impact of autonomous weapon systems and artificial intelligence อย่างไรก็ดี ร่างข้อมติฉบับดังกล่าวนี้มีประเด็นเกี่ยวกับความเห็นที่แตกต่างของที่ประชุมในด้านเนื้อหาตลอดการพิจารณาร่างข้อมติในห้วงสองวันที่ผ่านมา จึงทำให้มีผู้เสนอขอให้ที่ประชุมพิจารณาร่างข้อมติเป็นรายวรรคเพิ่มเติมอีกครั้งในวันนี้ ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับ ที่ประชุมจึงจำเป็นต้องพิจารณาร่างข้อมติตามการแปรญัตติดังกล่าว อย่างไรก็ดี เมื่อผ่านการพิจารณาร่างข้อมติได้ประมาณ 6 วรรคนำ ผู้เสนอได้ขอยกเลิกการพิจารณาร่างข้อมติเป็นรายวรรคเพิ่มเติม ประธานที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมลงมติรับรองร่างข้อมติ ซึ่งเสียงส่วนใหญ่มีมติรับรอง โดยมีบางประเทศที่แสดงความเห็นคัดค้านร่างข้อมติทั้งฉบับหรือตั้งข้อสงวนเป็นรายวรรค ซึ่งฝ่ายเลขานุการจะได้จัดทำหมายเหตุท้ายร่างข้อมติต่อไป นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณารับรองหัวข้อสำหรับการอภิปรายในการประชุมครั้งถัดไป คือ “The role of parliaments in advancing a two-State solution in Palestine” เพื่อจะได้นำข้อคิดเห็นจากการอภิปราย ไปเตรียมการจัดทำร่างข้อมติในหัวข้อดังกล่าว เพื่อพิจารณารับรองในห้วงการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 150 ในเดือนมีนาคม 2568 ต่อไป
2.4 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญว่าด้วยกิจการสหประชาชาติ (Standing Committee on United Nations Affairs) โดยในช่วงแรกที่ประชุมได้รับฟังการนำเสนอเรื่อง New UN Youth Office จากผู้แทนของสหประชาชาติ และบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในกิจการของโลก ในการดังกล่าว นางสาวสรัสนันท์ อรรณนพพร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการตื่นตัวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ผ่านการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของสื่อสังคมออนไลน์ (social media) ตลอดจนผลกระทบของข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือนที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสยุยงปลุกปั่น และให้ร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง รวมถึง เทคโนโลยี deep fake ซึ่งยุวสมาชิกรัฐสภาพึงเป็นปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เยาวชนในการเป็นผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่มีภูมิคุ้มกันและมีความรับผิดชอบ
ต่อมาในช่วงที่สอง ที่ประชุมได้มีการอภิปรายในหัวข้อ “The United Nations’ humanitarian work: How sustainable is it?” ในการนี้ นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ได้ร่วมอภิปรายต่อที่ประชุมว่าประเทศไทยสนับสนุนความพยายามอย่างยิ่งยวดในการบรรเทาสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศระดมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกาซาต่อไป และให้ฝ่ายคู่ขัดแย้งหยุดยิงเพื่อเปิดทางให้การดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าไปในพื้นที่ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกนี้ ยังได้นำเสนอการดำเนินการของประเทศไทยในความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมด้วยการเปิด "ระเบียงมนุษยธรรม" (humanitarian corridor) ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา และความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านมนุษยธรรมที่เร่งด่วนในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และพหุภาคี ให้สอดคล้องกับพันธะกรณีด้านกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศของไทย
 2.5 ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์  ตันติศิรินทร์ สมาชิกวุฒิสภา ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในหัวข้อ "Climate change and conflict: How can parliaments ensure health during times of crises?" โดยที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในหลากมิติ ทั้งปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วม และการสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งส่งผลต่อภาวะความยากจน ปัญหาสุขภาพ รวมถึงปริมาณผู้ป่วยที่อาจเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุข ขณะที่หลายประเทศในปัจจุบันประสบปัญหาระบบสาธารณสุขไม่มีมาตรฐานเพียงพอ และประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำไปสู่สภาพปัญหาต่อเนื่องด้านความมั่นคงไปจนถึงปัญหาการอพยพ ในการดังกล่าว ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ฯ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นโดยตั้งคำถามต่อที่ประชุมถึงความพยายามของภาครัฐสภาในการออกกฎหมายและจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ปัจจัยและเงื่อนไขของประเทศตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม รัฐควรคำนึงถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองต่อการรับมือกับปัญหาสุขภาพของประชาชนด้วยหรือไม่ อาทิ การออกแบบระบบสุขภาพบนความร่วมมือระหว่างประเทศ  เพื่อรองรับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นกับมวลมนุษยชาติมากขึ้นในอนาคต
2.6 นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และนายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าร่วมการอิปรายหญิง-ชายเท่าเทียม (Parity Debate) ซึ่งเป็นกิกรรมข้างเคียงที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม Gender Partnership Group ของสหภาพรัฐสภา ภายใต้หัวข้อ “Eliminating discrimination, transforming economic losses into gains” ในการนี้ นางสาวธีรรัตน์ฯ ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศไทยต่อที่ประชุมในการขจัดการเลือกปฏิบัติและการเสริมพลังอำนาจให้แก่สตรีในการส่งเสริมเศรษฐกิจโดยมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสตรี พ.ศ. 2566-2570 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกรอบหลักในการเสริมพลังสตรีในการมีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการส่งเสริมคุณค่าสตรีในโลกแห่งการทำงาน มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการสตรี และมาตรการการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสตรีในด้านการบริหารธุรกิจโดยเฉพาะการปลูกฝังแนวคิดของความเป็นผู้ประกอบการให้เด็กผู้หญิงตั้งแต่ในวัยเรียน ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิง  ที่ร่วมกันพัฒนาโดยภาครัฐและองค์กรประชาสังคม นอกจากนี้ ยังมีการยกย่องเชิดชูผู้หญิงที่เป็นผู้นำในแวดวงธุรกิจซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นต้นแบบให้แก่ผู้ประกอบการสตรีรุ่นใหม่และ startups อีกด้วย
2.7 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่ง และนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้ารับฟังการอภิปรายแบบเป็นคณะ ในหัวข้อ “การคุ้มครองสิทธิของเสียงคนกลุ่มน้อยผ่านกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติอย่างครอบคลุม” (Panel Discussion: Protecting minority rights: Towards comprehensive anti-discrimination legislation) เมื่อเวลา 11.00 -  13.00 นาฬิกา เพื่อรับฟังแนวทางการออกกฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ (Anti-discrimination law) ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการถอดบทเรียนจากประเทศต่างๆ ที่มีแนวปฏิบัติที่ดีตามที่ปรากฏอยู่ในคู่มือ  UN Practical Guide on Developing Comprehensive Anti-Discrimination Legislation จัดทำขึ้นระหว่างสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights: OHCHR) และ มูลนิธิ the Equal Rights Trust (ERT)

3. นอกจากนี้ ในการประชุมวันที่สี่ คณะผู้แทนรัฐสภาไทยยังได้พบปะหารือทวิภาคีกับคณะผู้แทนรัฐสภากาตาร์ นำโดย Mr. Sultan Aldosari สมาชิกสภาที่ปรึกษากาตาร์ โดยฝ่ายไทยได้กล่าวขอบคุณฝ่ายกาตาร์ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางในการเจรจาปล่อยตัวประกันชาวไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน หลังจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2566 จากการพบหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของทั้งสองประเทศเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และยังคงเหลือตัวประกันชาวไทยอีก 8 คนที่ยังคงไม่ทราบชะตากรรม โดยไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล-กาซาแม้จะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งดังกล่าวก็ตาม ด้วยไทยเป็นมิตรที่ดีของกาตาร์เสมอมา ฝ่ายกาตาร์ได้ตอบรับว่าจะนำเรื่องการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันชาวไทยที่เหลือไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกาตาร์ และขอภาวนาให้ตัวประกันทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวโดยปลอดภัยและโดยเร็วที่สุด นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีโอกาสได้หารือการขยายความร่วมมือทวิภาคีและการส่งเสริมความสัมพันธ์ในหลากมิติ รวมถึงแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์และพัฒนาการในภูมิภาค โดยฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายกาตาร์ดูแลชุมชนคนไทยที่ทำงานหรือเปิดกิจการในกาตาร์ 
อาทิ ร้านอาหารไทย และบริการนวดแผนไทยด้วย

4. อนึ่ง คณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้ตอบรับร่วมอุปถัมภ์ (co-sponsor) ข้อเสนอของออสเตรเลีย ที่จะนำเสนอหัวข้อ "Towards a fair global financial systen: the role of parliaments in preventing corporate tax avoidance and achieving sustainable development" เพื่อเป็นหัวข้อของร่างข้อมติของคณะกรรมาธิการสามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะยกร่างและรับรองในการประชุมสมัชชาสองครั้งถัดไป โดยหัวข้อดังกล่าวมีไนจีเรียกับนิวซีแลนด์ลงชื่อร่วมอุปถัมภ์แล้ว ทั้งนี้ ออสเตรเลียจะเสนอหัวข้อดังกล่าวเข้าสู่ การพิจารณาของคณะกรรมการบริหาร (Bureau) ของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป

เครดิต : ข่าวและภาพโดยฝ่ายเลขานุการคณะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 148 กลุ่มงานสหภาพรัฐสภา สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

download download Download all images download
ถ่ายทอดสดประชุมสภา
Flip E-book ระเบียบวาระการประชุมและเอกสารประกอบการพิจารณา
ระบบสืบค้นข้อมูลสาหรับการประชุมสภา (Android Version)
ขอเชิญสมาชิกตรวจสำเนารายงานการประชุม ชุดที่ ๒๕ ปีที่ ๒ (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง)
ระบบฐานข้อมูลรายงานและบันทึกการประชุม
ระบบสารสนเทศด้านนิติบัญญัติ
ฐานข้อมูลวิชาการและกฎหมายของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา
รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐
บริการกฎหมาย
ระบบให้บริการข้อมูลทางกฎหมายแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา
รัฐสภาระหว่างประเทศ
ศูนย์ประชาคมอาเซียนของรัฐสภา
หอสมุดรัฐสภา
การสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยระหว่างประเทศ
ระบบสมุดโทรศัพท์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร	สำหรับ iOS และ Android
สำนักงบประมาณของรัฐสภา
ทำเนียบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2562 (E-Book)
คลิกดูข้อมูลเกี่ยวกับการรายงานตัว
กองทุนเพื่อผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ระบบบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
บริการสอบถามข้อมูล CALL CENTER 1743


 วีดิทัศน์


  • ประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ๒๕๖๔    download_icon

  • ๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา    download_icon

  • เล่าเรื่องในหลวง ร.๙ ภายใน ๒ นาที    download_icon

  • วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า    download_icon

  • สารานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ    download_icon

 แสดงทั้งหมด...



สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
Share

View My Stats