|
|
วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายมานพ คีรีภูวดล รองประธานคณะ กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง และคณะ แถลงข่าว จากสถานการณ์ความไม่สงบในเมียนมา ทำให้มีผู้อพยพเข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ที่น่ากังวลคือมีเด็ก ๆ ที่หนีเข้ามาเพื่อความปลอดภัยมากขึ้นแบ่งได้ 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเคลื่อนย้ายลำพังโดยเป็นกลุ่มเยาวชนกลุ่มเด็กโตที่มีการศึกษาระดับมัธยม มหาวิทยาลัย และอีกกลุ่ม คือ กลุ่มที่เคลื่อนย้ายเป็นครัวเรือน โดยจะมีเด็กเล็กเป็นผู้ติดตามเข้ามาด้วย ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการ ขั้นพื้นฐานด้านการศึกษาของกลุ่มเด็กในช่วงวัยในการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา คือ โรงเรียนทั้งของรัฐ และศูนย์การเรียนรู้ประชาสังคม แต่โรงเรียนระบบการศึกษาไทย โรงเรียนสังกัด สพฐ. โรงเอกชน โรงเรียนสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เนื่องจากต้องแสดงสูติบัตร เอกสารแสดงตนของผู้ปกครอง และการรับรองจากนายจ้าง หรือผู้นำชุมชน อีกทั้งยังให้มีการวัดความรู้ภาษาไทย ก่อนรับสมัครเข้าเรียน ทำให้เด็กจำนวนมากไม่สามารถเข้าเรียนได้ ขณะที่ศูนย์การเรียนรู้ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกสั่งปิด จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้น พบว่าเดือน มิ.ย.67 มีจำนวนศูนย์การเรียน 78 แห่งใน 9 จังหวัด มีจำนวนนักเรียนมากถึง 23,090 คน และคาดว่ายังมีศูนย์การเรียน ที่ยังไม่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ และได้เคยมีการสั่งปิดศูนย์การเรียนจำนวน 10 ศูนย์การเรียนในจังหวัดระนอง ทำให้เด็กจำนวนกว่า 3 พันคน กระจายเข้าไปเรียนในโรงเรียนสังกัด สพฐ.และ กศน. แต่ก็พบว่าภายหลังเด็กจำนวนมากต้องออกจากการเรียนกลางคัน เพราะไม่สามารถปรับตัวเข้ากับระบบการศึกษาได้ และในหลายเดือนที่ผ่านมา มีจำนวนเด็กและเยาวชนที่เข้ามายังประเทศไทยมากขึ้นส่งผลให้เกิดความกังวลของหน่วยงานด้านการปกครอง และในบางจังหวัด เริ่มมีการพูดคุยเรื่องการสั่งปิดศูนย์การเรียน จึงยิ่งทำให้เด็กที่อพยพเข้ามาในไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น จากผลกระทบการเข้าถึงการศึกษา และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตของเด็กที่มีความสำคัญ รัฐบาลไทยจึงมีนโยบายการไม่กีดกันเรื่องการศึกษาของเด็กอพยพ แต่ในทางปฏิบัติมีการออกประกาศปฏิเสธไม่รับเด็กที่ไม่มีเอกสารเข้าศึกษา ทำให้เด็กไม่ได้เข้าถึง จึงมีความเสี่ยงในการเป็นแรงงานเด็กถูกแสวงหาผลประโยชน์ กลายเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ คณะ กมธ. มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.67) จึงมีการนัดประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กผู้อพยพ และการจัดการศึกษา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติได้ให้ความมั่นใจว่าจะไม่มีการจับกุม กักขังเด็กผู้อพยพ ตามข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่าง 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองยืนยันการดำเนินการที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิเด็ก กระทรวงมหาดไทยจะเร่งดำเนินการจัดทำประวัติเด็กเลข G ที่อยู่ในสถานศึกษา ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ โดย สพฐ. และ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือ กศน. เดิม จะเร่งดำเนินการรับนักเรียนที่ไม่มีเอกสารแสดงตัว ตามมติคณะรัฐมนตรี และระเบียบกระทรวงศึกษา ปี 2548 รวมถึงเร่งดำเนินการจดแจ้งศูนย์ช่วยเหลือพัฒนาหลักสูตรการเรียนภาษาไทย รวมทั้ง จะสร้างความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ เช่น สำนักงานกองทุนเพื่อเด็กของสหประชาชาติเพื่อร่วมแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกัน หากคณะ กมธ.ได้ข้อสรุปประการใด จะประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|