วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 13.50 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน รับยื่นหนังสือจาก นายธีรชัย ฉัตรมณีพงศ์ เหรัญญิก และรองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เรื่อง ขอความเป็นธรรมให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ในพื้นที่ภาคใต้ สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ต.ค. 63 เห็นชอบตามคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย 2018 ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 1 (พีดีพี 2018) ตามแผนในปี 2570 2572 ซึ่งระบุว่าจะมีโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีกำลังผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการ แต่ขณะนี้มีความสับสนเนื่องจากมีมติคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ที่ครม. ได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา ให้กระทรวงพลังงานพิจารณาจัดสรรโควตาให้โรงไฟฟ้าเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ โดยอ้างว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการพัฒนาโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ที่ จ.สงขลา หรือนิคมอุตสาหกรรมจะนะ
ในการนี้ สร.กฟผ. ในฐานะองค์กรตัวแทนผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศชาติและประชาชนมีความกังวลและสับสนในนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากการจัดทำแผนพีดีพี 2018 ที่เกี่ยวเนื่องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้เข้าสู่กระบวนการจัดทำโครงการตามขั้นตอนแล้ว ต่างจากการแบ่งจัดสรรโควตาให้โรงไฟฟ้าเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังจะเกิดขึ้นโดย กพต. ซึ่งยังมีการต่อต้านและไม่ยอมรับจากประชาชนในพื้นที่ จึงมีความกังวลว่าโรงไฟฟ้าเอกชนจะไม่ได้ผลิตเพื่อใช้ในนิคมอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังที่อ้างถึง แต่จะนำมาบังคับขายให้กับ กฟผ. ในราคาที่สูงกว่าที่ กฟผ. ผลิตเอง ซึ่งจะสร้างภาระให้กับประชาชนทั้งประเทศต้องมาร่วมจ่ายให้กับการลงทุนของเอกชน จึงขอให้คณะ กมธ. ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน และให้ความเป็นธรรมกับ กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ทำตามนโยบายของรัฐ
ด้าน นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องดังกล่าวบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของคณะ กมธ. โดยจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการเร่งด่วนว่าโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์อย่างไร เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนหรือไม่ ต่อไป
จากนั้น นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ได้กล่าวถึงการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลว่า ขอยืนยันว่าฝ่ายค้านมีความพร้อมสำหรับการอภิปรายนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้ง 10 ท่าน โดยขอเรียกร้องไปยังผู้ที่เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ควรปฏิบัติตนให้สมกับเป็นสมาชิกรัฐสภา และควรให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย
ประกวดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ๒๕๖๔
๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา
เล่าเรื่องในหลวง ร.๙ ภายใน ๒ นาที
วีดิทัศน์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า
สารานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนฯ