เมื่อวันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 11.00 – 13.30 นาฬิกา (ตามเวลาประเทศไทย) นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (Member of the IPU Executive Committee) เข้าร่วมกิจกรรมการเสวนาออนไลน์ว่าด้วยการติดตามความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration : GCM) ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จัดโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights : OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของสมาชิกรัฐสภาในการมีส่วนร่วมสนับสนุนกระบวนการติดตามการดำเนินการตามข้อตกลง GCM ทั้งภายในประเทศ และในมิติระหว่างประเทศ รวมถึงการวางแนวทางเพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการโยกย้ายถิ่นฐานในอนาคตระหว่างสมาชิกรัฐสภาภายในภูมิภาค ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐสภากับ OHCHR โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
การเสวนาผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจากแคนาดา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ภูฏาน ฟิลิปปินส์ บังกลาเทศ เนปาล และปากีสถาน พร้อมทั้งผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายพันธมิตรที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม และดำเนินรายการโดย Mr. Klaus Dik Nielsen ที่ปรึกษาของ OHCHR โดยเริ่มจาก Ms. Pia Oberoi เจ้าหน้าที่จาก OHCHR ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดสัมมนาในครั้งนี้ และความเป็นมาโดยสรุปของข้อตกลงระหว่างประเทศ GCM ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการบริหารจัดการการโยกย้ายถิ่นฐานข้ามชาติระดับโลกที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่รับรองโดยที่ประชุมเต็มคณะของสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 73 ในปี พ.ศ. 2561 โดยมุ่งหมายให้การจัดระเบียบการโยกย้ายถิ่นฐานวางอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างประโยชน์ที่ประเทศปลายทางได้รับ และการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้โยกย้ายถิ่นฐานซึ่งเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการขจัดปัญหาการค้ามนุษย์และลักลอบขนถ่ายมนุษย์อย่างผิดกฎหมาย การเสวนาครั้งนี้แบ่งออกเป็นสามช่วงตามหัวข้อย่อย รวม 3 หัวข้อ ได้แก่ (1) Role of parliamentarians in upholding the human rights of migrants (2) Key areas of human rights concerns and the implementation of the Global Compact for Migration และ (3) Follow up and review of the Global Compact for Migration and the International โดยผลของการเสวนาจะได้ประมวลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของชุดข้อมูลที่จะนำเข้าสู่ International Migration Review Forum (IMRF) ของสหประชาชาติในเดือนพฤษภาคม 2565