|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะ กมธ. กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน แถลงข่าวกรณีศาลปกครองกลางพิพากษาตัดสินคดีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 8 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2565
|
วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.50 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าวชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ประธานคณะ กมธ. กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน แถลงข่าวกรณีศาลปกครองกลางพิพากษาตัดสินคดีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้เพิกถอนมติยกเลิกการประกวดราคาของคณะกรรมการมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาของผู้ว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ( ผู้ว่าการ รฟม.) ถือเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย
สืบเนื่องจากเมื่อวานนี้ (7 ก.ค. 65) ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 580/2564 ระหว่างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลปกครองกลางพิพากษาตัดสินคดีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ให้เพิกถอนมติยกเลิกการประกวดราคาของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ฯ และคำสั่งยกเลิกการประกวดราคาของผู้ว่าการ รฟม. ถือเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวตนได้เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ซึ่งผลงานของ รฟม. และกระทรวงคมนาคมนั้น ตนคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแค่ปัญหาของผู้ว่า รฟม. หรือ แค่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ที่ไปล้มประมูล เพราะในการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36ฯ ที่ไปยกเลิกและไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการประมูล ทั้ง ๆ ที่มีผู้แทนจากสำนักงบประมาณและคนอื่น ๆ ทักท้วงหลายครั้งจนถึงกระทั่งวอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุมแต่คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ฯ ซึ่งตนเห็นว่าที่มาอาจไม่เป็นกลางเพราะส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมซึ่งอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อน หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตนในฐานะประธานคณะ กมธ. กิจการศาลฯ ได้ประชุมพิจารณาสืบหาข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวตลอด 1 ปีที่ผ่านมา และได้ชี้ข้อสังเกตที่ผิดปกติเป็นจำนวนมาก อันเป็นสำนวนพยานประกอบในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบไปแล้ว ซึ่งคำพิพากษาของศาลปกครองกลางเมื่อวานนี้ ทำให้เชื่อได้ว่า การประมูลครั้งแรกมีปัญหา ตนจึงขอแนะนำไปยังผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมและ รฟม. ว่า อย่าดื้อ ควรจะกลับไปใช้การประมูลในครั้งแรกทันที และควรรอฟังคำพิพากษาของศาลอาญาทุจริตฯ ว่าจะมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง และ กรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ฯ และ ผู้บริหาร รฟม. มีความผิดอาจต้องติดคุกกี่คน แต่ตนเชื่อว่าหาก รฟม. จะอุทธรณ์ก็ได้ แต่ก็จะทำให้เกิดปัญหามากขึ้นไปอีก เพราะหากการอุทธรณ์แล้วพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง หรือ ระหว่างพิจารณาก็ต้องรอคำพิพากษา การเปิดประมูลครั้งใหม่ในวันที่ 27 ก.ค. นี้ ก็จะไม่ชอบด้วยกฎหมายอีก
นายจิรายุ กล่าวเพิ่มว่า ตนในฐานะประธานคณะ กมธ. กิจการศาลฯ ได้เรียกข้อมูล เพื่อสืบหาข้อเท็จจริงจากพยานแวดล้อมจำนวนมาก ทั้งจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีล้มการประมูลครั้งแรกระบุชัดเจนว่าทำให้ล่าช้าไปอย่างน้อย 2 ปี ทำให้ประเทศสูญเสียไปกว่า 40,000 ล้านบาท จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีผู้ใดออกมารับผิดชอบ และหากกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาออกมาเช่นนี้อีก ก็จะยิ่งทำให้การประมูลต้องทอดยาวออกไปอีกอย่างน้อง 1-2 ปี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะสูญเสียนับ 100,000 ล้านบาท ที่ประชาชนตั้งแต่มีนบุรีคลองสามวาไปจนถึงศูนย์วัฒนธรรมข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปที่บางขุนนนท์จะสูญเสียประโยชน์มหาศาลจากการเดินทางและเศรษฐกิจของประเทศ จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และแก้ไขปัญหาให้รวดเร็วเพราะผู้ประมูลรายใหม่จะต้องเดินรถตั้งแต่มีนบุรีคลองสามวายาวไปจนถึงบางขุนนนท์แต่วันนี้ยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ ทั้งที่ ส่วนที่ 1 จะเสร็จแล้ว เกรงว่าจะกลายเป็นประติมากรรมบนถนนรามคำแหง หรือแบบโครงการโฮปเวลล์ เพราะความเสียหายจะตกอยู่กับประชาชนคนไทยทั้งสิ้น อยากให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการทุกอย่างโดยเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก อย่าเห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้อง |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|