|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าว
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 12 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2566
|
วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2566 เวลา 14.00 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม ลงวันที่ 6 ม.ค. 66 ขอให้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดยระบุเหตุผลว่าไม่มีงบประมาณจัดซื้อกล้องบันทึกภาพขณะสอบสวนหรือจับกุม และบุคลากรขาดความรู้และทักษะ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านสภาไปเป็นเวลาหลายเดือนแล้ว โดยยังไม่ได้มีการบังคับใช้ทันที เพราะต้องรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีการกำหนดระยะเวลาเพื่อให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ได้มีการเตรียมตัวเนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ เป็นกฎหมายที่จะยกระดับกระบวนการยุติธรรมให้มีความโปร่งใส ให้เป็นกระบวนการยุติธรรมที่คุ้มครองพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย โดยสาระสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความกังวลและคิดว่าไม่อาจปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ได้คือ การควบคุมตัวผู้ต้องหาต่าง ๆ นั้น จะต้องมีการติดกล้องเพื่อบันทึกภาพวิดีโอไว้เพื่อให้เกิดการตรวจสอบได้ว่าการควบคุมตัวผู้ต้องหาเป็นการควบคุมตัวที่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้มีการซ้อมทรมานหรือทำร้ายร่างกาย ซึ่งความจริงแล้วมาตรฐานในลักษณะเช่นนี้ในประเทศที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีความโปร่งใสทั้งในสหรัฐอเมริกาหรือในหลาย ๆ ประเทศในแถบยุโรปจะพบว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมีการติดตั้งกล้องประจำตัวไว้นั้นเป็นเรื่องที่ปกติมากและจะทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นเป็นการควบคุมตัวตามกฎหมายหรือไม่ เพราะหากย้อนกลับมาดูในประเทศไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็มีหลายกรณีที่มีกล่าวอ้างกันเป็นระยะ ๆ ว่าการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นมีการซ้อมทรมาน มีการทำร้ายร่างกาย หรือเป็นการควบคุมตัวที่ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ดังนั้น เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้เป็นเจตนารมณ์ที่ดี และได้มีการให้ระยะเวลากับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานต่าง ๆ มากเพียงพออย่างแน่นอน แต่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่ ผบ.ตร. กลับบอกว่า หากจะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้จะมีการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพและเสียงจำนวนมาก จะต้องมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐประมาณ 2 แสนนาย และระยะเวลาที่ให้นั้นไม่เพียงพอจึงต้องการให้มีการชะลอการบังคับใช้ออกไปก่อน ซึ่งการชะลอในนัยนี้เข้าใจว่า ผบ.ตร. คงหมายถึงให้ใช้พระราชกฤษฎีกาในการเลื่อนการบังคับใช้ ซึ่งตนเห็นว่าไม่สามารถทำได้ เพราะหากเลื่อนจะต้องมีการประกาศใช้เป็น พ.ร.ก. ซึ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.เพื่อเลื่อนกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐนั้นไม่สมควรที่จะกระทำ ทั้งนี้ ในฐานะที่ตนเป็น กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และเป็นรองประธานคณะอนุ กมธ.ศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 65 กมธ.ได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงต่อคณะอนุ กมธ. โดย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ได้มาร่วมประชุมและตอบคำถามต่าง ๆ โดยกล่าวชัดเจนว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ และทุกหน่วยงานที่มาชี้แจงได้ตอบชัดเจนว่าสามารถปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ได้ โดยตนยังแนะนำว่าหากมีปัญหาขัดข้องและหากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อกล้องวิดีโอเพื่อติดบริเวณร่างกายของตำรวจเพื่อถ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถใช้งบกลางได้ ทั้งนี้ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 14 พ.ย. 65 และได้ข้อสรุปว่า ไม่พร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ แต่วันที่ 22 ธ.ค. 65 รอง ผบ.ตร. มาชี้แจงต่อคณะอนุ กมธ. ว่า มีความพร้อม และวันที่ 6 ม.ค. 66 ผบ. ตร. ได้ทำหนังสือถึง รมว.ยุติธรรมว่า ไม่มีความพร้อม ทำให้ตนเห็นว่า การบริหารงานของ ผบ.ตร. คนปัจจุบัน ล้มเหลวอย่างถึงที่สุด ทั้งการปราบปรามอาชญากรรม และกลุ่มทุนจีนสีเทา ที่ผบ.ตร. ปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีประวัติการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการอุ้มหายและซ้อมทรมาน และเพื่อให้ได้กฎหมายฉบับนี้พี่น้องประชาชนต้องอดทนอยู่กับความเจ็บปวดและฝันร้ายมาเป็นเวลานาน และระหว่างที่รอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพร้อม หากมีบุคคลถูกอุ้มหายหรือมีการซ้อมทรมานแล้วท่านจะรับผิดชอบอย่างไร จึงขอเรียกร้องไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายที่สภาได้ออกไป และขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการชื่นชมและสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|