วันอังคารที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เวลา ๑๑.๓๐ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง อาคารรัฐสภา ๑ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจากตัวแทนนักวิชาการและเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมกว่า ๖๐ องค์กร นำโดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมด้วยผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต คณบดีคณะศิลปกรรมศษสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพื่อยื่นข้อเสนอประเด็นงานศิลปวัฒนธรรมเข้ายกร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๙ โดยมีสาระสำคัญว่า การดำเนินงานด้านศิลปวัฒนธรรมอย่างสมบูรณ์แบบ เป็นไปอย่างทั่วถึงและกว้างขวางนั้น ควรจะต้องเกิดจากความร่วมมือประสานงานของภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาครัฐ และประชาชน และผู้สืบสานศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ประกอบด้วยภาคประชาสังคมทางศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นผู้รักศิลปะและวัฒนธรรม อาทิ สมาคม มูลนิธิและชมรมที่มีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนงานวัฒนธรรมต่างๆ ด้วย ซึ่งการบรรจุเจตนารมณ์เช่นนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ จะช่วยเอื้ออำนวยให้ทั้งภาคประชาชน ประชาสังคม และเอกชน ได้มีบทบาทสร้างเสริมงานของรัฐในการสร้างสังคม โดยเฉพาะในส่วนที่องค์กรของรัฐมีขอบเขตจำกัด ทั้งในด้านทรัพยากรและบุคลากร รวมทั้งองค์ความรู้ซึ่งในสังคมปัจจุบันมีอาณาเขตอันไม่สิ้นสุด และท้ายสุดจะนำไปสู่การเป็นประชารัฐได้ดังเจตนารมณ์ของรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ได้รับข้อคิดเห็นจากตัวแทนฯ พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมของไทย โดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเห็นว่าศิลปะ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศ โดยได้มีการกำหนดว่าให้มีการบัญญัติเรื่องของศิลปวัฒนธรรม ลงในรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๙ นี้ด้วย และจะนำเข้าหารือต่อที่ประชุมวิป ๓ ฝ่าย ในวันพรุ่งนี้ (๑๗ ก.พ.๕๙) เพื่อเป็นการเสริมสร้างวัฒนธรรมอันดีที่มีอยู่แต่ก่อนแล้วให้สืบต่อไป