มาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง : ๓๐
มาตรา ๓๐ ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติดำเนินการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
(๑) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาบุคคลด้านต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗ ด้านละหนึ่งคณะ และให้มีคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดแต่ละจังหวัดเพื่อสรรหาจากบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ๆ
(๒) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาแต่ละด้านจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ยอมรับของบุคคลในด้านนั้น ๆ
(๓) ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหาบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๘ ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๒๙ และมีความรู้ความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในแต่ละด้าน แล้วจัดทำบัญชีรายชื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการนี้ คณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อตนเองมิได้
(๔) การสรรหาบุคคลตาม (๓) ให้คำนึงถึงความหลากหลายของบุคคลจากกลุ่มต่าง ๆ ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ภาควิชาการ ภาควิชาชีพ และภาคอื่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ การกระจายตามจังหวัด โอกาสและความเท่าเทียมกันทางเพศ รวมทั้งผู้ด้อยโอกาส
(๕) ให้คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดประกอบด้วยบุคคลตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
(๖) ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติคัดเลือกบุคคลที่เห็นสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจากบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาตาม (๑) เสนอ ไม่เกินสองร้อยห้าสิบคน โดยใน จำนวนนี้ให้คัดเลือกจากบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดเสนอ จังหวัดละหนึ่งคน
จำนวนกรรมการในคณะกรรมการสรรหาแต่ละคณะ วิธีการสรรหา กำหนดเวลาในการสรรหา จำนวนบุคคลที่จะต้องสรรหา และการอื่นที่จำเป็น ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
มาตรา ๖ ให้มีสภานิติบัญญัติแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยยี่สิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ
มาตรา ๘ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(๑) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
(๒) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(๓) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๔) เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(๕) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(๖) เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๗) อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง
(๘) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายเกี่ยวกับการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
(๙) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือรัฐมนตรีในขณะเดียวกันมิได้
มาตรา ๙ สมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติสิ้นสุดลงเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๖ วรรคหนึ่ง หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘
(๔) สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพตามมาตรา ๑๒
(๕) ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม
ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามวรรคหนึ่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้วินิจฉัย
มาตรา ๑๒ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้ใดกระทำการอันเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือมีพฤติการณ์อันเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติให้ผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ
มติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติตามวรรคหนึ่งต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
มาตรา ๒๗ ให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(๑) การเมือง
(๒) การบริหารราชการแผ่นดิน
(๓) กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
(๔) การปกครองท้องถิ่น
(๕) การศึกษา
(๖) เศรษฐกิจ
(๗) พลังงาน
(๘) สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
(๙) สื่อสารมวลชน
(๑๐) สังคม
(๑๑) อื่น ๆ
ทั้งนี้ เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย มีระบบการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรม มีกลไกป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีประสิทธิภาพ ขจัดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม
มาตรา ๒๘ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสองร้อยห้าสิบคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดและมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ
พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติคนหนึ่ง และเป็นรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติไม่เกินสองคน ตามมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ
ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธานสภาและรองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ
มาตรา ๒๙ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๘ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๘) และ (๙) และให้นำความในมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติโดยอนุโลม แต่การวินิจฉัยตามมาตรา ๙ วรรคสอง ให้เป็นอำนาจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ