มาตราในรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง : ๓๘
มาตรา ๓๘ ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปตามมาตรา ๓๗ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง และให้มีการดำเนินการเพื่อแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้น เพื่อดำเนินการแทนตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๓๔ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง
ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดที่สิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง จะเป็นประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี ชุดใหม่มิได้
มาตรา ๑๓ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีอำนาจตราข้อบังคับเกี่ยวกับการเลือกและการปฏิบัติหน้าที่ของประธานสภา รองประธานสภา และกรรมาธิการ วิธีการประชุม การเสนอและการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การเสนอญัตติ การอภิปราย การลงมติ การตั้งกระทู้ถาม การรักษาระเบียบและความเรียบร้อย และกิจการอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
มาตรา ๑๘ ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใด ๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด จะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวผู้นั้นในทางใดมิได้
เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งให้คุ้มครองถึงกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา รายงานการประชุมตามคำสั่งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือคณะกรรมาธิการ บุคคลซึ่งประธานในที่ประชุมอนุญาตให้แถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตลอดจนผู้ดำเนินการถ่ายทอดการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใดที่ได้รับอนุญาตจากประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย แต่ไม่คุ้มครองสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หรือทางอื่นใด หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดอาญา หรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ในกรณีที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติถูกควบคุมหรือขัง ให้สั่งปล่อยเมื่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติร้องขอ หรือในกรณีถูกฟ้องในคดีอาญา ให้ศาลพิจารณาคดีต่อไปได้ เว้นแต่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติร้องขอให้งดการพิจารณาคดี
มาตรา ๓๑ สภาปฏิรูปแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำ แนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปด้านต่าง ๆ ตามมาตรา ๒๗ เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๒) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
(๓) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น
ในการดำเนินการตาม (๑) หากเห็นว่ากรณีใดจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาต่อไป ในกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ให้จัดทำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการต่อไป
ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะตาม (๒) ต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติครั้งแรก
ให้นำความในมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๘ มาใช้บังคับแก่การปฏิบัติหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติด้วยโดยอนุโลม
มาตรา ๓๔ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา ๓๑ (๒) แล้วเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณา
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำความเห็นหรือข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา ๓๑ (๒) ความเห็นของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และความเห็นของประชาชนรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย
มาตรา ๓๖ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจัดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประชุมกันเพื่อพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสร็จสิ้นการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ยื่นคำขอหรือที่ให้คำรับรองคำขอของสมาชิกอื่นแล้ว จะยื่นคำขอหรือรับรองคำขอของสมาชิกอื่นอีกมิได้
ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย และคณะรัฐมนตรีหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเสนอความคิดเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ
คำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้ยื่นต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
มาตรา ๓๗ ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา ๓๖ วรรคสอง ในการนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอาจแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ตามที่เห็นสมควร
เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคหนึ่งแล้วให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ โดยสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องมีมติภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติจะแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อความของร่างรัฐธรรมนูญนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นข้อผิดพลาดที่มิใช่สาระสำคัญ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น หรือเป็นกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น
เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคสองแล้ว ให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาตินำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติ และเมื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและใช้บังคับได้โดยให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป