ประวัติความเป็นมา
สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter-Parliamentary Assembly : AIPA) แต่เดิมใช้ชื่อว่าองค์การรัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Organization : AIPO) เริ่มก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ โดยการริเริ่มของรัฐสภาอินโดนีเซียในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือของรัฐสภาแห่งชาติในอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น เนื่องจากขณะนั้นความร่วมมือของอาเซียนนั้นมีอยู่ทุกกรอบแล้ว แต่ยังขาดความร่วมมือในกรอบของระดับรัฐสภา โดยแนวความคิดของรัฐสภาอินโดนีเซียได้รับความสนใจจากประเทศสมาชิกอาเซียนอีก ๔ ประเทศ คือ มาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ และราชอาณาจักรไทย โดยต่างเห็นพ้องต้องกันถึงประโยชน์ของการสร้างความร่วมมือให้ใกล้ชิดในระหว่างรัฐสภาของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือการจัดตั้งองค์การรัฐสภาอาเซียนขึ้นถึง ๓ ครั้ง และในครั้งที่ ๓ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ได้ลงนามเห็นชอบในธรรมนูญขององค์การรัฐสภาอาเซียน เพื่อจัดตั้งองค์การรัฐสภาอาเซียนอย่างเป็นทางการนับแต่นั้นมา
ต่อมา ที่ประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ ณ เมืองเซบู สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ได้ประกาศใช้ธรรมนูญขององค์กรฉบับใหม่ โดยได้เปลี่ยนชื่อจากองค์การรัฐสภาอาเซียน มาเป็นสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Assembly : AIPA) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กร และบูรณาการการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้เป็นรูปธรรม ตลอดจนยกระดับความร่วมมือระหว่างรัฐสภาในประเทศสมาชิกอาเซียนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างการทำงานขององค์กร เพิ่มช่องทางการทำงานร่วมกันกับอาเซียน โดยการแลกเปลี่ยนการเข้าร่วมประชุมระหว่างประธาน AIPA และประธานคณะกรรมการประจำอาเซียน รวมทั้งให้อำนาจ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ในการริเริ่มการจัดทำกฎหมายในประเด็นที่ประเทศสมาชิกให้ความสนใจร่วมกัน เพื่อบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community)
สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Assembly : AIPA)
ปัจจุบันสมาชิกของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ประกอบด้วยรัฐสภาแห่งชาติของประเทศจากสมาชิกอาเซียน จำนวน ๑๐ ประเทศ ได้แก่
๑) บรูไนดารุสซาลาม
๒) ราชอาณาจักรกัมพูชา
๓) สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
๔) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
๕) มาเลเซีย
๖) สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
๗) สาธารณรัฐฟิลิปปินส์
๘) สาธารณรัฐสิงคโปร์
๙) ราชอาณาจักรไทย
๑๐) สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
โครงสร้างของสมัชชารัฐสภาอาเซียน
๑. สมัชชาใหญ่ (General Assembly) สมัชชาใหญ่เป็นองค์กรสูงสุดของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ทั้งในด้านการบริหารและด้านนโยบาย ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิก AIPA จำนวนประเทศละไม่เกิน ๑๕ คน โดยมีประธานรัฐสภาหรือผู้ที่ประธานรัฐสภามอบหมายเป็นหัวหน้าคณะ
สมัชชารัฐสภาอาเซียนจัดประชุมสมัชชาใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อกำหนดนโยบายของ AIPA เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่ออาเซียน และเพื่อเสนอแนะมาตรการด้านรัฐสภาและมาตรการด้านนิติบัญญัติในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในอาเซียน ทั้งนี้ ประเทศเจ้าภาพการประชุมสมัชชาใหญ่จะหมุนเวียนไปตามลำดับอักษรชื่อประเทศสมาชิก AIPA
๒. ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน (President of AIPA) ประธานรัฐสภาของประเทศที่เป็นเจ้าภาพการประชุมสมัชชาใหญ่ในปีนั้นจะดำรงตำแหน่งประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งประธาน AIPA มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๑ ปี นับตั้งแต่การสิ้นสุดการประชุมสมัชชาใหญ่ในปีหนึ่งจนถึงการสิ้นสุดการประชุมสมัชชาใหญ่ของปีถัดไป นอกจากนี้ ประธาน AIPA ยังดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของ AIPA มีอำนาจเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารเมื่อเห็นสมควร และในฐานะตัวแทนขององค์กร ประธาน AIPA ทำหน้าที่ประสานงานกับรัฐสภาในกลุ่มอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรนิติบัญญัติ และสร้างเสริมบทบาทของสถาบันนิติบัญญัติในกิจการของอาเซียน
๓. คณะกรรมการบริหาร (The Executive Committee) การประชุมคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนเป็นประธานคณะกรรมการ และสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิกไม่เกินประเทศละ ๓ คน โดยหนึ่งในสามคนจะต้องเป็นประธานรัฐสภาหรือผู้แทน คณะกรรมการบริหารมีวาระ ๑ ปี เช่นเดียวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธาน AIPA
หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารของสมัชชารัฐสภาอาเซียน มีดังนี้
๑) พิจารณาและเสนอแนะการเป็นสมาชิกภาพของรัฐสภาประเทศสมาชิก และการเข้าเป็น ผู้สังเกตการณ์ของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ตลอดจนพิจารณาบุคคลหรือองค์กรที่สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะเชิญเข้าร่วมกิจกรรมหรือการประชุมขององค์กร
๒) ริเริ่มกิจกรรมของสมัชชารัฐสภาอาเซียน
๓) ติดตามการปฏิบัติตามข้อมติที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่
๔) เตรียมหัวข้อการประชุมและกำหนดการที่แต่ละประเทศสมาชิกเสนอเพื่อให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ให้ความเห็นชอบ
๕) เสนอการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการศึกษาและคณะกรรมาธิการวิสามัญ เมื่อมีความจำเป็นต้องจัดตั้ง
๖) กำกับ ติดตาม และดูแลควบคุมสำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน
๗) เสนอการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน และ
๘) กำหนดข้อบังคับการประชุมของคณะกรรมการบริหารแต่ละครั้ง
๔. คณะกรรมาธิการสามัญ (The Standing Committee) คณะกรรมาธิการศึกษา (The Study Committee) และคณะกรรมาธิการวิสามัญ (The Ad - Hoc Committee) ในการประชุมสมัชชาใหญ่ที่จัดขึ้นแต่ละปีจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการสามัญด้านต่าง ๆ เพื่อกลั่นกรองข้อมติเสนอให้สมัชชาใหญ่ให้ความเห็นชอบ นอกจากนั้น ที่ประชุมสมัชชาใหญ่อาจตั้งคณะกรรมาธิการศึกษา และคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเป็นการเฉพาะคราว เพื่อทำหน้าที่เป็นการเฉพาะ โดย-ศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในด้านนิติบัญญัติ การพัฒนาประเทศ และความร่วมมือของประเทศสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเป็นการเฉพาะ คณะกรรมาธิการทั้งสองประเภทนี้จะหมดวาระเมื่อทำหน้าที่เสร็จสิ้น
๕. สำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (The AIPA Secretariat) สำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภา-อาเซียนเป็นหน่วยงานจัดการบริหารของสมัชชารัฐสภาอาเซียน ตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มีเลขาธิการ-สมัชชารัฐสภาอาเซียนเป็นหัวหน้า ได้รับการแต่งตั้งโดยประธาน AIPA โดยความเห็นชอบของที่ประชุมสมัชชาใหญ่เลขาธิการ AIPA ได้รับคัดสรรตามระบบหมุนเวียน หากประเทศสมาชิกที่ถึงคราวเสนอชื่อเลขาธิการไม่สามารถสรรหาผู้เข้ารับตำแหน่งได้ ให้ประเทศสมาชิกลำดับถัดไปเสนอชื่อแทน ทั้งนี้ เลขาธิการ AIPA มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี
ตามธรรมนูญ AIPA เลขาธิการ AIPA มีหน้าที่ดังต่อไปนี้
๑) กำกับดูแลสำนักงานเลขาธิการ AIPA รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายจากสมัชชาใหญ่ คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมาธิการทั้งหมดของ AIPA
๒) สนับสนุนประธาน AIPA บริหารงานของคณะกรรมการบริหารและสมัชชาใหญ่
๓) ส่งข้อมติและการตัดสินใจของสมัชชาใหญ่ให้แก่ประเทศสมาชิกเพื่อรับทราบและปฏิบัติตาม
๔) เป็นตัวแทนของ AIPA ในฐานะผู้สังเกตการณ์ในการประชุมรัฐสภาระหว่างประเทศ
๕) ทำหน้าที่ในการเชื่อมและติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการระหว่าง AIPA กับอาเซียน และกับองค์กรระหว่างประเทศและองค์กรระดับภูมิภาคอื่น ๆ รวมทั้งรัฐบาลและรัฐสภาประเทศต่าง ๆ
๖) เตรียมประมาณการงบประมาณประจำปีของสำนักงานเลขาธิการ AIPA รายงานประจำปีซึ่งรวมถึงรายงานการเงิน และนำเสนอรายงานดังกล่าวต่อสมัชชาใหญ่ ผ่านทางคณะกรรมการบริหารเพื่อขอความเห็นชอบ
๗) บริหารงบประมาณของ AIPA และรับผิดชอบการใช้จ่ายงบประมาณตามที่ได้รับอนุมัติจากสมัชชาใหญ่
๘) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากประธาน AIPA คณะกรรมการบริหารและสมัชชาใหญ่
๙) แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานเลขาธิการ AIPA
การประชุมในกรอบของสมัชชารัฐสภาอาเซียนที่เกี่ยวข้อง
๑. การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน (General Assembly)
๒. การประชุมคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)
๓. การประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนและคณะผู้แทนของ AIPA
๔. การประชุม AIPA Caucus
๕. การประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยการปราบปรามภัยคุกคามจาก-ยาเสพติด (AIFOCOM)
๖. การเข้าร่วมการประชุมอื่นๆ เช่น การประชุมด้านสตรี ด้านสิทธิมนุษยชน
๑. การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน (General Assembly)
สมัชชารัฐสภาอาเซียนจัดประชุมสมัชชาใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อกำหนดนโยบายของ AIPA พิจารณาเรื่องต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่ออาเซียน และเสนอแนะมาตรการด้านรัฐสภาและมาตรการด้านนิติบัญญัติในการพัฒนาอาเซียนและแก้ไขปัญหาในอาเซียน
การประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะต้องประกอบไปด้วยผู้แทนจากรัฐสภาประเทศสมาชิก ประเทศละ ไม่เกิน ๑๕ คน โดยมีประธานรัฐสภาหรือบุคคลที่ประธานรัฐสภามอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะ ตามธรรมนูญสมัชชารัฐสภาอาเซียนกำหนดให้จัดการประชุมปีละหนึ่งครั้ง และในกรณีที่ไม่สามารถปฏิบัติตามนี้ได้ ให้ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการบริหาร ซึ่งสถานที่ในการจัดการประชุมสมัชชาใหญ่นั้น ประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับอักษร หากในกรณีที่ประเทศเจ้าภาพไม่สามารถจัดการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียนได้ ให้คณะกรรมการ-บริหารเป็นผู้ตัดสินว่าจะใช้สถานที่ใดเป็นที่จัดการประชุม
ที่ประชุมสามารถริเริ่มเสนอแนะแนวนโยบาย ตลอดจนผลักดันให้เกิดการจัดทำข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกันภายในอาเซียน เพื่อเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณา ข้อมติที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมจะถูกส่งผ่านไปยังหน่วยประจำชาติเพื่อดำเนินการแจ้งให้รัฐบาลและรัฐสภาแห่งชาติรับทราบและปฏิบัติตามข้อมตินั้น ๆ ต่อไป
ที่ประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน จะใช้หลักฉันทามติ ในการพิจารณาประเด็นปัญหาต่าง ๆ ประเด็นที่ไม่ได้รับความเห็นชอบตามหลักฉันทามติถือว่าตกไป
คณะผู้แทนในการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ประกอบด้วย
๑. ผู้แทนรัฐสภาประเทศสมาชิก AIPA ๑๐ ประเทศๆ ละ ๑๕ คน
๒. ผู้แทนรัฐสภาประเทศผู้สังเกตการณ์ AIPA ๑๑ ประเทศ และ ๑ องค์กร คือ ออสเตรเลีย แคนาดา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี นิวซีแลนด์ รัสเซีย ปาปัวนิวกินี สหรัฐอเมริกา อินเดีย ติมอร์ - เลสเต เบลาลุส และสภายุโรป ประเทศละ ๒ คน
๒. การประชุมคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)
การประชุมคณะกรรมการบริหารฯ ประกอบด้วย ประธานสมัชชารัฐสภาอาเซียนเป็นประธานคณะกรรมการ และสมาชิกรัฐสภาจากประเทศสมาชิก ไม่เกินประเทศละ ๓ คน โดยหนึ่งในสามคนจะต้องเป็นประธานรัฐสภาหรือผู้แทน-คณะกรรมการบริหารมีวาระ ๑ ปี เช่นเดียวกับวาระการดำรงตำแหน่งของประธาน AIPA
หน้าที่ของคณะกรรมการบริหารของสมัชชารัฐสภาอาเซียนมีดังนี้
๑) พิจารณาและเสนอแนะการเป็นสมาชิกภาพของรัฐสภาประเทศสมาชิกและการเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ ตลอดจนพิจารณาบุคคลหรือองค์กรที่สมัชชารัฐสภาอาเซียนจะเชิญเข้าร่วมกิจกรรมหรือการประชุมขององค์กร
๒) ริเริ่มกิจกรรมของสมัชชารัฐสภาอาเซียน
๓) ติดตามการปฏิบัติตามข้อมติที่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่
๔) เตรียมหัวข้อการประชุมและกำหนดการที่แต่ละประเทศสมาชิกเสนอเพื่อให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ให้ความเห็นชอบ
๕) เสนอการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ คณะกรรมาธิการศึกษาและคณะกรรมาธิการวิสามัญ เมื่อมีความจำเป็นต้องจัดตั้ง
๖) กำกับ ติดตาม และดูแลควบคุมสำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน
๗) เสนอการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน
๘) กำหนดข้อบังคับการประชุมของคณะกรรมการบริหารแต่ละครั้ง
๓. การประชุมระหว่างคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกับผู้นำอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (AIPA ASEAN Meeting During ASEAN Summit)
การประชุมระหว่างคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกับผู้นำอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (AIPA ASEAN Meeting during ASEAN Summit) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter - Parliamentary Assembly : AIPA) และสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations : ASEAN) ในความพยายามที่จะสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและปรึกษาหารือในกิจการรอบด้านของภูมิภาค
กรอบความร่วมมือระหว่าง AIPA และอาเซียน เป็นความคิดริเริ่มในความพยายามที่จะยกระดับการทำงานร่วมกันและมีความเห็นร่วมกันในการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในทุกระดับและความมุ่งมั่นที่จะขยายกรอบความร่วมมือและการรวมตัวกันในภูมิภาคให้รอบด้านมากยิ่งขึ้น ซึ่งดำเนินการภายใต้หลักการสำคัญ ได้แก่
๑) ธรรมนูญ AIPA ข้อ ๑๗ ว่าด้วยความสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งใจความสำคัญระบุถึงการสร้างกรอบความร่วมมือ การปฏิสัมพันธ์ และการปรึกษาหารือกับอาเซียน เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการดำเนินงานระหว่าง ๒ องค์กร
๒) ข้อมติการประชุมใหญ่สมัชชารัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ (กันยายน ๒๕๔๙) ว่าด้วยแนวทางการสร้างการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างผู้นำของทั้ง ๒ องค์กร ในการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุมใหญ่สมัชชา-รัฐสภาอาเซียน
๓) กฎบัตรอาเซียน ในภาคผนวก ๒ หมวดองคภาวะที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน ซึ่งระบุให้ AIPA เป็นหุ้นส่วนสำคัญลำดับต้นของอาเซียน
กล่าวคือ บริบทที่ทั้ง ๒ องค์กรอยู่ในช่วงเวลาของการปรับเปลี่ยนรูปแบบและการทำงานขององค์กร โดยอาเซียนยกระดับตนเองให้เป็นองค์กรที่มีรูปแบบและกฎระเบียบแบบแผนมากยิ่งขึ้น มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและมี กฎบัตร-อาเซียนเป็นหัวใจหลักของการดำเนินงาน เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในขณะที่ AIPA สร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร โดยการบูรณาการการทำงานฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อกระชับความร่วมมือระหว่างรัฐสภาให้มีความใกล้ชิดยิ่งขึ้น และเพิ่มช่องทางการทำงานร่วมกับอาเซียนในการติดตามการทำงานควบคู่กันระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้อย่างทันเหตุการณ์ และเพื่อวางกรอบการทำงานร่วมกันระหว่าง AIPA และอาเซียนภายใต้กฎบัตรอาเซียนและธรรมนูญ AIPA เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือภายในภูมิภาคเพื่อก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนที่มี ประชาชนอาเซียน เป็นศูนย์กลางและการเตรียมพร้อมที่จะรองรับการพัฒนาและการขยายตัวของภูมิภาคในอนาคต
๔. การประชุม AIPA Caucus
AIPA Caucus เป็นการประชุมในกรอบของสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการร่วมกันทำให้มาตรการ ระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศสมาชิกเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างความสอดคล้องทางกฎหมายของประเทศสมาชิก AIPA และยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่าง AIPA กับ ASEAN
การประชุม AIPA Caucus ถือเป็นกลไกของ AIPA ในการหาแนวทางการจัดทำกฎหมายร่วมกันภายในกลุ่มประเทศสมาชิก ทั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการ AIPA จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและหยิบยกประเด็นปัญหาที่มีความเร่งด่วนขึ้นมาเป็นหัวข้อการประชุม นอกจากนี้ AIPA Caucus ยังสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง AIPA กับ ASEAN โดยเฉพาะทางฝ่าย ASEAN Mutual Legal Agreements และการแลกเปลี่ยน best practice ในการแก้ไขปัญหาด้วย
องค์ประกอบของผู้เข้าร่วมการประชุม คือ ผู้แทนรัฐสภาสมาชิก AIPA ประเทศละไม่เกิน ๓ คน ผู้แทนจากประเทศผู้สังเกตการณ์ ประเทศละไม่เกิน ๑ คน เลขาธิการ AIPA และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเลขาธิการหน่วยประจำชาติ ประเทศละ ๑ คน
ตามที่ระบุไว้ในบันทึกข้อตกลงของ AIPA Caucus (Terms Of Reference of the AIPA Caucus) ประธาน AIPA Caucus จะเป็นผู้แต่งตั้งรองประธานการประชุม (Deputy Chairperson) ซึ่งในการประชุม AIPA Caucus ครั้งที่ ๑ ที่มาเลเซีย ประธาน AIPA Caucus ได้เสนอให้รองประธาน AIPA Caucus มาจากประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพในลำดับต่อไป คือ ฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากฟิลิปปินส์ไม่สามารถรับตำแหน่งดังกล่าวได้ ในการประชุม AIPA Caucus ครั้งที่ ๑ หัวหน้าคณะ-ผู้แทนรัฐสภามาเลเซียจึงทำหน้าที่เป็นรองประธานการประชุมแทน โดยเลขาธิการ AIPA ทำหน้าที่เลขานุการการประชุม AIPA Caucus
ทั้งนี้ การประชุม AIPA Caucus สามารถจัดขึ้นได้ตามความเหมาะสมโดยดำริของประธาน AIPA โดยหารือร่วมกับประธาน AIPA Caucus ซึ่งการดำรงตำแหน่งเจ้าภาพจัดการประชุมนั้น ประเทศสมาชิก AIPA จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพตามลำดับตัวอักษร เจ้าภาพการประชุมจะเป็นผู้กำหนดวัน เวลาและสถานที่จัดการประชุม
๕. การประชุมคณะกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงของสมัชชารัฐสภาอาเซียนว่าด้วยการปราบปรามภัยคุกคามจากยาเสพติด The AIPA Fact Finding Committee to Combat the Drug Menace (AIFOCOM)
คณะกรรมาธิการศึกษาข้อเท็จจริงของสมัชชารัฐสภาอาเซียนในการปราบปรามภัยคุกคามจากยาเสพติด (The Fact Finding Committee to Combat the Drug Menace หรือ AIFOCOM) เป็นกลไกการทำงานปราบปรามภัยคุกคามจากยาเสพติดของสมัชชารัฐสภาอาเซียนตามมติการประชุมสมัชชาใหญ่องค์การรัฐสภาอาเซียน ครั้งที่ ๒๓ ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในปี ๒๕๔๕
ทั้งนี้ การประชุม AIFOCOM มีความต่อเนื่อง โดยรัฐสภาประเทศสมาชิกที่รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ AIPA จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม AIFOCOM ด้วย
วัตถุประสงค์ของการประชุม
๑. แลกเปลี่ยนข้อมูลและความเข้าใจในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการเสพและการค้ายาเสพติด
๒. ปรับใช้และบังคับใช้กฎหมายในประเทศอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านยาเสพติดให้สอดคล้องกัน
๓. สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลด้วยการออกกฎหมาย นโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมยาเสพติด
๔. ดูแลและติดตามภารกิจที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย นโยบายและโครงการต่าง ๆ เพื่อขจัดยาเสพติดในหมู่ประเทศสมาชิก
๕. เป็นเวทีที่ใช้ปรึกษาหารือ และขอความร่วมมือจากองค์กรนานาชาติ
๖. ทำหน้าที่เป็นตัวประสานระหว่างรัฐบาลและองค์กรเอกชนในการต่อสู้กับยาเสพติด
พัฒนาการและย่างก้าวต่อไปของสมัชชารัฐสภาอาเซียน
ย่างก้าวต่อไปของสมัชชารัฐสภาอาเซียน คือ ในฐานะขององค์กรด้านนิติบัญญัติ AIPA จะมุ่งมั่นในการสร้างความสอดคล้องทางกฎหมายในประเทศสมาชิก และกระตุ้นให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศสมาชิกนำข้อมติจากการประชุมสมัชชาใหญ่ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมให้มากยิ่งขึ้น และจะพยายามลดความเหลื่อมล้ำของประเทศสมาชิกเพื่อให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศก้าวเดินไปข้างหน้าพร้อม ๆ กัน และการก้าวเดินไปข้างหน้าในฐานะหุ้นส่วนที่สำคัญของอาเซียน ในการร่วมการสนับสนุนพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของประชาคมอาเซียน และการสร้างความร่วมมือผ่านกรอบการประชุมระหว่างคณะผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียนกับผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียน (AIPA ASEAN Interface Meeting) ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับการปรึกษาหารือและสร้างความสอดคล้องในระดับนโยบายเพื่อสร้างความเป็นเอกภาพภายใต้กรอบการดำเนินการของประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ ในระหว่างปี ๒๕๕๙ ๒๕๖๒ (๓ ปี) รัฐสภาไทยได้เสนอชื่อนายอิสรา สุนทรวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง-เลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ประจำอยู่ ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน ทั้งนี้การดำรงตำแหน่งเลขาธิการ AIPA ของนายอิสรา สุนทรวัฒน์ จะเป็นโอกาสสำคัญที่จะมีคนไทยไปดำรงตำแหน่งสำคัญของภูมิภาค ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางสนับสนุนและผสานความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจอันดีและการสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งในภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป
จัดทำโดย
กลุ่มงานสมัชชารัฐสภาอาเซียน
สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
02-3573100 ต่อ 3162-3