null

 


สมาคมเลขาธิการรัฐสภา (Association of Secretaries General of Parliaments - ASGP)

 

๑. ประวัติโดยสังเขป

 

สมาคมเลขาธิการรัฐสภาจัดตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในการประชุมสหภาพรัฐสภาปี พ.ศ. ๒๔๘๑ โดยมีผู้แทนจาก ๒๐ ประเทศเข้าร่วมประชุม และจากการประชุมดังกล่าวได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่พิจารณาวัตถุประสงค์และข้อเสนอแนะของสมาคมฯ คณะอนุกรรมการได้เริ่มการประชุมเมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ และต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้มีการร่างธรรมนูญและระเบียบ  ข้อบังคับของสมาคมฯ รวมทั้งวัตถุประสงค์และขอบเขตของการดำเนินงานของสมาคมฯขึ้น หลังจากนั้นในวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ สมาคมฯ ได้เปิดการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยที่ประชุมได้ให้การรับรองธรรมนูญของสมาคมซึ่งมีชื่อว่า “หน่วยอิสระของเลขาธิการรัฐสภา” (Autonomous Section of Secretaries General of Parliaments) ในเวลาต่อมา สมาชิกของสมาคมฯ มีความเห็นว่าชื่อของสมาคมฯ อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสมาคมฯ กับสหภาพรัฐสภา โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสมาคมฯ ซึ่งได้แยกกันอย่างเด็ดขาดจากสหภาพรัฐสภา ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ จึงได้มีการประชุมพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างและระบบงานของสมาคมฯ ใหม่ รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนชื่อของสมาคมฯ จากเดิมมาเป็น“สมาคมเลขาธิการรัฐสภา” ซึ่งเป็นชื่อปัจจุบันของสมาคมฯ

 

๒. การดำเนินงาน

 

สมาคมเลขาธิการรัฐสภาเป็นองค์กรความร่วมมือของเลขาธิการรัฐสภานานาชาติซึ่งมีภารกิจที่สำคัญคือ การเรียนรู้กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และกระบวนการของรัฐสภา  การพัฒนาระบบรัฐสภาให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง รวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับระบบรัฐสภาแก่บุคลากรในวงงานรัฐสภาและสาธารณชนทั่วไป และการให้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาด้วยกัน การดำเนินงานที่สำคัญของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาคือ การแลกเปลี่ยนเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับรัฐสภา นานาประเทศ และจัดทำเอกสารความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและรัฐสภา โดยมีลักษณะเป็นกึ่งรายงานการศึกษา ซึ่งจะเป็นเอกสารพื้นฐานของการค้นคว้าด้านรัฐสภาศึกษาในขั้นสูงต่อไป

 

๓. การจัดทำรายงาน (Reports) และการนำเสนอประเด็นอภิปราย (Communications)

 

๓.๑ การจัดทำรายงาน (Reports)

 

- การจัดทำรายงานเสนอต่อสมาคมเลขาธิการรัฐสภา จะเริ่มจากผู้เสนอรายงาน (Rapporteur) จากประเทศสมาชิกเสนอหัวข้อเรื่องให้คณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) ของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบกับหัวข้อเรื่องที่จะจัดทำรายงานก่อน

- เมื่อคณะกรรมการบริหารให้ความเห็นชอบ และสมาคมเลขาธิการรัฐสภาให้การรับรองกับหัวข้อการทำรายงานแล้ว หัวข้อเรื่องสำหรับการจัดทำรายงานจะบรรจุอยู่ในระเบียบวาระสำหรับการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาในครั้งต่อไป

- ผู้เสนอรายงานจะจัดเตรียมบทนำเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวพร้อมทั้งร่างแบบสอบถาม (Draft Questionnaire) ซึ่งจะส่งเวียนให้กับสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อพิจารณาก่อนการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาครั้งต่อไปจะเริ่มขึ้น

- ในระหว่างการประชุมฯ ผู้เสนอรายงานจะนำเสนอหัวข้อการจัดทำรายงานและสมาชิกสมาคมเลขาธิการรัฐสภาที่เข้าร่วมการประชุมฯ จะร่วมอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์จากรัฐสภาของตน เมื่อเสร็จสิ้นการอภิปรายแล้ว สาระสำคัญของแบบสอบถามดังกล่าวจะได้รับการรับรองจากที่ประชุม (หมายเหตุ : ระหว่างการอภิปรายเกี่ยวกับแบบสอบถามดังกล่าว ประธานในที่ประชุมอาจเสนอให้คณะกรรมการยกร่าง (Drafting Committee) ยกร่างทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้)

- ภายหลังการประชุมดังกล่าว เลขานุการร่วม (Joint Secretaries) จะส่งแบบสอบถามดังกล่าวให้แก่สมาชิกสมาคมเลขาธิการรัฐสภา โดยเลขาธิการรัฐสภาของแต่ละรัฐสภาจะส่งคำตอบกลับไปยังผู้เสนอรายงาน ซึ่งจะได้ดำเนินการจัดทำ ร่างรายงานฉบับแรก (First Draft Report) ต่อไป  ซึ่งร่างรายงานฉบับแรกนี้ จะจัดส่งให้แก่สมาชิกสมาคมเลขาธิการรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งจะมีการอภิปรายและแก้ไขโดยสมาชิกฯ  ในการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาครั้งต่อไป

- ในระหว่างการดำเนินการอภิปรายร่างรายงานฉบับแรกนี้ ผู้เสนอรายงานจะจัดเตรียมร่างรายงานฉบับที่สอง (Second Draft Report)ซึ่งจะนำส่งให้แก่สมาชิกของสมาคมฯ เพื่อพิจารณาในการประชุมฯ ครั้งต่อไป ซึ่งในการพิจารณาร่างรายงานฉบับที่สองนี้ โดยทั่วไปถือว่าเกือบสมบูรณ์แล้ว โดยที่ประชุมจะแก้ไขเพิ่มเติมเพียงเล็กน้อย รวมทั้งจะพิจารณาจากคำตอบจากการตอบแบบสอบถามที่ส่งกลับมาด้วย

- หลังจากร่างรายงานฉบับที่สองผ่านการแก้ไขเพิ่มเติม และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาแล้ว จะนำไปตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมชื่อ “Constitutional and Parliamentary Information” ซึ่งมีกำหนดการตีพิมพ์ ปีละ ๒ ครั้ง โดยเนื้อหาในเล่มจะเกี่ยวกับบทความด้านกฎหมายและพัฒนาการล่าสุดในวงการรัฐสภา โดยส่วนที่เป็นรายงานทั้งหมดจะนำมาตีพิมพ์ในวารสารนี้

 

๓.๒ การนำเสนอประเด็นอภิปราย (Communications)

           

- ในการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภาแต่ละครั้ง สมาคมเลขาธิการรัฐสภาจะมีแบบฟอร์มสำหรับสมาชิกที่ต้องการนำเสนอประเด็นอภิปราย (Communications) ต่าง ๆ โดยเฉพาะพัฒนาการล่าสุดในรัฐสภาของตนต่อที่ประชุม   ซึ่งสมาชิกที่ต้องการเสนอประเด็นอภิปรายต่อที่ประชุมดังกล่าว จะต้องระบุหัวข้อเรื่องที่จะเสนอต่อที่ประชุมลงในแบบฟอร์มดังกล่าว แล้วส่งกลับให้ทางสมาคมเลขาธิการรัฐสภาก่อนการประชุมฯจะเริ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ในทางปฏิบัติ จากนั้นคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee)ของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาจะทำการพิจารณาว่าเรื่องใดสมควรบรรจุอยู่ในวาระการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภา  ซึ่งการพิจารณาหัวข้อเรื่องดังกล่าวจะมีขึ้นในวันแรกของการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภา

- บทสรุปการนำเสนอดังกล่าวจะอยู่ในรายงานการประชุมและตีพิมพ์ในวารสาร “Constitutional and Parliamentary Information”ของสมาคมฯ

 

๔. โครงสร้างและระบบงาน

 

โครงสร้างของสมาคมเลขาธิการรัฐสภา ประกอบด้วย ที่ประชุมประจำปี (General Assembly) และคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee) โดยมีประธานสมาคมเลขาธิการรัฐสภาเป็นประธานคณะกรรมการบริหาร ในคณะกรรมการบริหารยังมีรองประธานสมาคมฯ อีก ๒ คน กรรมการบริหาร ๘ คน และผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฯ ซึ่งเป็นสมาชิกหรือสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ การประชุมประจำปีของสมาคมฯ จะประชุมพร้อมกับการประชุมสหภาพรัฐสภาปีละ ๒ ครั้ง ครั้งแรกจะเป็นการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิ ในราวเดือนมีนาคมหรือเมษายน และครั้งที่สองเป็นการประชุมประจำฤดู-ใบไม้ร่วง ประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม

 

ประธานของสมาคมเลขาธิการรัฐสภาคนปัจจุบัน คือ Dr. Hafnaoui Amrani เลขาธิการสภาที่ปรึกษาแห่งชาติแอลจีเรีย ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี (ฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ – ฤดูใบไม้ร่วง ปี พ.ศ.  ๒๕๕๔)

 

๕. ประเทศสมาชิก

 

สมาคมเลขาธิการรัฐสภา ประกอบด้วย เลขาธิการรัฐสภา  และรองเลขาธิการรัฐสภา ในกรณีที่เลขาธิการรัฐสภาหรือรองเลขาธิการรัฐสภาไม่สามารถเข้าร่วมในการดำเนินงานต่างๆ ของสมาคมฯ โดยตรงหรือโดยอ้อมได้ สมาคมฯ อาจจะพิจารณารับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐสภาที่เลขาธิการรัฐสภานั้นเสนอเป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้  แต่ทั้งนี้ แต่ละสภาจะมีผู้แทนซึ่งเป็นสมาชิกสมาคมฯ พร้อมกันได้ไม่เกิน    คน

 

ในปัจจุบัน สมาคมเลขาธิการรัฐสภามีประเทศสมาชิกจำนวน ๑๓๒ ประเทศ โดยทุกประเทศในอาเซียนเป็นสมาชิกสมาคมฯ ทั้งสิ้น ยกเว้นบรูไนดารุสซาลาม และสหภาพพม่า ส่วนประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นๆ ล้วนเป็นสมาชิกสมาคมฯ เช่นกัน

 

๖. เงินค่าบำรุง

 

ประเทศสมาชิกจะต้องชำระเงินค่าบำรุงสมาคมเลขาธิการรัฐสภาเป็นจำนวนเงิน ๔๐๐ สวิสฟรังก์ ต่อปี โดยการโอนเงิน (credit transfer) เข้าบัญชีสมาคมเลขาธิการรัฐสภา

 

๗. ข้อบังคับ

 

ข้อบังคับของสมาคมฯ มีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในการประชุมสมาคมเลขาธิการรัฐสภา ประจำฤดูใบไม้ผลิ ปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๒๙ เมษายน – ๔พฤษภาคม ๒๕๕๐ ซึ่งมีทั้งหมด ๓๒ ข้อ โดยในแต่ละหมวดระบุถึงวัตถุประสงค์ของสมาคมฯ  องค์ประกอบและโครงสร้างของสมาคม ฯ  การประชุมคณะกรรมการบริหาร วิธีการออกเสียงลงคะแนน การจัดทำรายงานการประชุม ภาษาที่ใช้ งบประมาณ การแก้ไขกฎของสมาคมฯ และบทเฉพาะกาล
 
 
 


สงวนลิขสิทธิ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
1111 ถ. สามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หมายเลขโทรศัพท์ 02 242 5900 ต่อ 5601
(สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 5661 (สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 7301 (สำนักภาษาต่างประเทศ ชั้น 3 )

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

วันที่เริ่มเผยแพร่ 5 กันยายน 2559