สมัชชารัฐสภาเอเชีย (Asian Parliamentary Assembly - APA)
๑. ความเป็นมา
ทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีการส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงและสันติภาพ รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เริ่มจากกลุ่มองค์กรเอกชนได้ส่งเสริมและนำกฎบัตรเรื่องสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียมาใช้เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ ๕๐ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังได้เกิดแนวโน้มใหม่ ๆ ในภูมิภาคเกี่ยวกับการส่งเสริมกระบวนการด้านประชาธิปไตยและหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนจิตวิญญาณที่จะสร้างสันติภาพและความร่วมมือของภูมิภาคเอเชียทั้งหมด ประเทศ ต่าง ๆ จำนวน ๓๖ ประเทศ และตัวแทนจากองค์กรประชาสังคมหลายองค์กรจึงได้ร่วมกันจัดการประชุมขึ้น ณ กรุงธากา สาธารณรัฐ-ประชาชนบังกลาเทศ เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ๒๕๔๒ เพื่อจัดตั้งสมาคมรัฐสภาเอเชียเพื่อสันติภาพ (Association of Asian Parliaments for Peace AAPP) ขึ้น AAPP มีการประชุมเรื่อยมา และได้มีการตั้งคณะทำงานเป็นคณะผู้ทรงคุณวุฒิ (Expert Panel) ซึ่งอยู่ภายใต้คณะมนตรีที่ปรึกษาอาวุโส (Senior Advisory Council) ของ AAPP เพื่อศึกษาหาแนวทาง (Roadmap) ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งและยกระดับองค์กรไปสู่การเป็นสมัชชารัฐสภาเอเชีย (Asian Parliamentary Assembly APA) จนเมื่อการประชุมสมัชชาใหญ่ AAPP ครั้งที่ ๗ ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้มีการประชุมคณะมนตรีที่ปรึกษาอาวุโสขึ้นในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาถึงข้อเสนอต่าง ๆ ในการปรับเปลี่ยนองค์กรจาก AAPP ไปสู่ APA โดยในที่สุด ที่ประชุมได้ประกาศให้การประชุมสมัชชาใหญ่ AAPP ครั้งที่ ๗ เป็นการประชุม APAครั้งปฐมฤกษ์อีกด้วย
๒. วัตถุประสงค์และผลงานของ APA
· เพื่อส่งเสริม เสรีภาพ ความยุติธรรมทางสังคม สันติภาพ มิตรภาพและความมั่นคงอย่างเท่าเทียมกัน
· เพื่อแบ่งปันความรู้อันหลากหลาย และส่งเสริมความรู้ในกลุ่มสมาชิก เพื่อให้เกิดความก้าวหน้า
· เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและมนุษย์ อย่างร่วมมือกัน และรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของสมาชิกทั้งหมด รวมทั้ง ตระหนักถึงอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมาอย่างถาวร ในการใช้ทรัพยากรดังกล่าว เพื่อจัดหาสวัสดิการ ด้านสุขภาพและโภชนาการของประชากรในกลุ่มประเทศสมาชิก
· เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการบูรณาการกลุ่มประเทศในเอเชีย เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาค
๓. โครงสร้างและส่วนประกอบสำคัญของสมัชชารัฐสภาเอเชีย
สมัชชารัฐสภาเอเชีย ประกอบด้วย ๔ ส่วน คือ
๓.๑) ที่ประชุมสมัชชา (The Plenary)
กฎข้อบังคับของ APA ข้อ ๔ ระบุว่า การประชุมสมัชชาของ APA มีกำหนดการจัดขึ้นอย่างน้อย ปีละ ๑ ครั้ง (ตามกฎบัตร APA ข้อ ๙) โดยจะประกอบด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประเทศสมาชิก โดยมีวาระ ๒ ปี ทั้งนี้ สมาคมฯ ประกอบด้วยประธานสมาคมฯและรองประธานสมาคมฯ จะเป็นประธานรัฐสภา หรือผู้แทนของประเทศที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งต่อไป โดยวาระการเป็นเจ้าภาพและประธานจะดำรงตำแหน่งอยู่คราวละ ๒ ปี
๓.๒) คณะมนตรีบริหาร (The Executive Council)
กฎข้อบังคับ APA ข้อ ๗ ระบุว่า คณะมนตรีบริหารประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และสมาชิก จำนวน ๑ คน จากแต่ละประเทศ ซึ่งจะทำหน้าที่ควบคุมบริหารสมัชชาฯ และจะมีการประชุมคณะ-มนตรีบริหารระหว่างการประชุม APA ในแต่ละครั้ง
๓.๓) คณะกรรมาธิการ (The Committees)
กฎข้อบังคับ APA ข้อ ๑๕ ระบุว่า คณะกรรมาธิการของ APA ประกอบด้วยด้านต่างๆ ดังนี้ คณะกรรมาธิการด้านการเมือง (Political Committee) คณะกรรมาธิการด้านสันติภาพและความมั่นคง (Peace and Security Committee) คณะกรรมาธิการด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social and Cultural Committee) คณะกรรมาธิการด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน (Economic and Sustainable Development Committee) และคณะกรรมาธิการด้านพลังงาน (Energy Committee)
๓.๔) สำนักงานเลขาธิการ (The Secretariat)
สำนักงานเลขาธิการ APA จะหมุนเวียนไปตามประเทศเจ้าภาพที่ดำเนินการจัดประชุมโดยใช้เงินจากกองทุนสมัชชาฯ (APA General Fund) ซึ่งมาจากการสนับสนุนของประเทศสมาชิกตามความสมัครใจ ทั้งนี้ ประเทศเจ้าภาพที่จัดการประชุมจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเตรียมการจัดการประชุม ทั้งนี้ ตามกฎข้อบังคับAPA ข้อ ๙ ระบุว่า สำนักงานเลขาธิการ APA จะตั้งอยู่ที่อิหร่าน โดยที่ประชุมสมัชชา APA จะพิจารณาเรื่องค่าใช้จ่ายและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๕๔
๔. ประเทศสมาชิก
ประเทศสมาชิกของสมัชชารัฐสภาเอเชีย (Full Member Countries) ปัจจุบันประกอบด้วย ๓๘ ประเทศ คือ อัฟกานิสถาน บาห์เรน บังกลาเทศ ภูฏาน กัมพูชา จีน ไซปรัส อินโดนีเซีย อิหร่าน จอร์แดน คิริบาตี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี สาธารณรัฐเกาหลี คูเวต คีร์กิซสถาน ลาว เลบานอน มาเลเซีย มัลดีฟส์ มองโกเลีย เนปาล ปากีสถาน ปาเลา ปาเลสไตน์ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ซีเรีย ทาจิกิสถาน ไทย ตองกา ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อุซเบกิสถาน เวียดนาม และเยเมน
ประเทศผู้สังเกตการณ์ของสมัชชารัฐสภาเอเชีย (Observer Countries) ประกอบด้วย ๑๘ ประเทศ คือ ออสเตรเลีย อาเซอร์ไบจาน ฟิจิ อินเดีย ญี่ปุ่น คาซัคสถาน หมู่เกาะมาร์เเชลล์ ไมโครนีเซีย นาอูรู นิวซีแลนด์ โอมาน ปาปัวนิวกินี ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ติมอร์เลสเต เติร์กเมนิสถาน ตูวาลู และวานูอาตู
๕. คณะผู้แทนไทยใน APA
ในการประชุมสมัชชาใหญ่ APA ครั้งที่ ๒ ที่จัดขึ้น ณ กรุงเตหะราน สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ทางสำนักงานเลขาธิการ APA ได้มีหนังสือถึงประเทศสมาชิกต่าง ๆ ขอให้ดำเนินการเสนอรายชื่อสมาชิกรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่คณะผู้แทนใน APA ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎข้อบังคับของ APA ข้อที่ ๑ ว่าด้วยองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมประชุม ภายใต้กฎบัตรของ APA ข้อที่ ๖ และข้อที่ ๘ ซึ่งแต่ละประเทศมีสิทธิพื้นฐาน จำนวน ๒ คน และเมื่อคิดสัดส่วนของประชากรแล้ว ประเทศไทยจะมีผู้แทนเพิ่มได้อีก ๓ คน รวมเป็น ๕ คน
คณะผู้แทนไทยในAPA ชุดแรก ประกอบด้วย
๑. พลเอก จรัล กุลละวณิชย์ รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง
๒. นายสมโภชน์ กาญจนาภรณ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
๓. นายอิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
๔. นายพรสิทธิ์ ศรีอรทัยกุล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
๕. พลตรี อดุล อุบล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
สำหรับคณะผู้แทนไทยชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย
๑. ดร.เจริญ คันธวงค์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ
- หัวหน้าคณะผู้แทนไทยใน APA
๒. ดร.ไพโรจน์ ตันบรรจง - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- รองประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน คนที่หนึ่ง
๓. นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
- รองประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา
ศิลปะ และวัฒนธรรม คนที่สาม
๔. พลเรือเอก ณรงค์ ยุทธวงศ์ - สมาชิกวุฒิสภา
- ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร
๕. ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู - สมาชิกวุฒิสภา
- กรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ
<SPAN lang=TH style="FONT-SIZE: 12pt; FONT-FAMILY: Tahoma, sans-se