null

 


สมาคมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (International Parliamentarians’ Association for Information Technology - IPAIT)

 

๑. ความเป็นมา

 

สมาคมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เกิดจากแนวความคิดร่วมกันของสมาชิกรัฐสภาสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา และไทย ซึ่งมีความสนใจ    ในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศของรัฐสภา โดยมีวัตถุประสงค์หลักตามกฎบัตรของ IPAIT เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี สารสนเทศในระดับสมาชิกรัฐสภา เพื่อให้บรรลุผลการพัฒนาที่สมดุลของเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกโดยการประชุม IPAIT ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ในปี ๒๕๔๕ ครั้งที่ ๒ รัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพจัดการ-ประชุมที่กรุงเทพฯ ในปี ๒๕๔๗ ครั้งที่ ๓ จัดขึ้นที่สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ในปี ๒๕๔๘ ครั้งที่ ๔ จัดขึ้นที่กรุงราบัต ราชอาณาจักรโมร็อกโก ในปี ๒๕๔๙ ครั้งที่ ๕ จัดที่กรุงเฮลซิงกิ สาธารณรัฐฟินแลนด์ ในปี ๒๕๕๐ และครั้งที่ ๖ จัดขึ้นที่กรุงโซเฟีย สาธารณรัฐบัลแกเรีย ในปี ๒๕๕๑ โดยที่ผ่านมารัฐสภาไทยจัดส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมด้วยทุกครั้ง ยกเว้นเพียงครั้งเดียวคือการประชุมครั้งที่ ๔ ที่โมร็อกโก เนื่องจากอยู่ในระหว่างการยุบสภา ตามกฎบัตร IPAITกำหนดให้มีการประชุมปีละ ๑ ครั้ง โดยการประชุมครั้งที่ ๗ สาธารณรัฐอินเดียรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในปี ๒๕๕๒ และการประชุมครั้งที่ ๘ สาธารณรัฐเคนยา  รับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ในปี ๒๕๕๓

 

๒. สมาชิกของ IPAIT

 

ตามหมวด ๒ มาตรา ๔ ของกฎบัตร IPAIT สมาชิกของ IPAIT ประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาจากรัฐสภาประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุม IPAIT โดยในการประชุม IPAIT ครั้งที่ ๑ ที่สาธารณรัฐเกาหลีนั้น มีรัฐสภาจาก ๓๕ ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุม ซึ่งถือว่าเป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้ง IPAIT ซึ่งประเทศไทย    ก็เป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งด้วย จากนั้นรัฐสภาไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม IPAIT ครั้งที่ ๒ ระหว่างวันที่ ๑๖–๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ณ กรุงเทพมหานครด้วย  นับจากการประชุมปฐมฤกษ์ที่สาธารณรัฐเกาหลี จนถึงการประชุมครั้งสุดท้าย (ครั้งที่ ๖) ที่สาธารณรัฐบัลแกเรีย สมาคมได้มีจำนวนประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ รวมแล้วขณะนี้มี ๔๖ ประเทศ (ดูรายชื่อจากโครงสร้าง IPAIT)

 

๓. โครงสร้างและระบบงาน

 

การประชุมของสมาคมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แก่ การประชุมสมัชชาใหญ่ (General Assembly) การประชุมสมัชชาใหญ่นี้จะจัดขึ้นปีละ ๑ ครั้ง โดยตำแหน่งประธานสมาคมฯ จะต้องได้รับเลือกจากที่ประชุมโดยคำแนะนำของประเทศเจ้าภาพ เช่นเดียวกับรองประธานสมาคมฯ ซึ่งก็จะได้รับเลือกโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่โดยคำแนะนำของประเทศสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเช่นกัน ทั้งนี้ ประธานและรองประธานของสมาคมฯ มีวาระในการดำรงตำแหน่งนับจากวันที่ตนได้รับเลือกไปจนถึงวันที่ได้มีการเลือกประธานและรองประธานคนใหม่ในการประชุมครั้งถัดไปจึงจะสิ้นสุดวาระ

 

นอกจากนี้ตามกฎบัตร IPAIT ยังกำหนดให้ที่ประชุมสมัชชาใหญ่จัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการประชุม (Preparatory Committee) และคณะกรรมการอื่นที่เห็นว่าจำเป็นได้ด้วย โดยคณะกรรมการเตรียมการประชุมดังกล่าวจะมีวาระนับจากวันที่ได้รับเลือกตั้งไปจนถึงวันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับเลือกตั้งในการประชุมคราวถัดไป

 

๔. กฎบัตร IPAIT (Charter of IPAIT) และการแก้ไข

 

กฎบัตรของสมาคมสมาชิกรัฐสภาระหว่างประเทศด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีทั้งหมด ๘ หมวด ๑๘ มาตรา มีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้

          หมวด ๑ บทเฉพาะกาล ประกอบด้วย มาตรา ๑ ชื่อสมาคม และมาตรา ๒ เป้าหมายของสมาคม

          หมวด ๒ สมาชิกภาพ ประกอบด้วย มาตรา ๓ องค์ประกอบ มาตรา ๔ สมาชิกภาพ และมาตรา ๕ ผู้สังเกตการณ์

          หมวด ๓ การประชุมสมัชชาใหญ่ ประกอบด้วย มาตรา ๖ องค์ประกอบของการประชุมสมัชชาใหญ่ มาตรา ๗ การประชุมสมัชชาใหญ่ มาตรา ๘ การตัดสินใจของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ และมาตรา ๙ กฎและข้อบังคับ

          หมวด ๔ ตำแหน่งบริหาร และคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย มาตรา ๑๐ ตำแหน่งประธานสมาคม มาตรา ๑๑ ตำแหน่งรองประธานสมาคม และมาตรา ๑๓ คณะกรรมาธิการ

          หมวด ๕ สำนักงานเลขาธิการ ประกอบด้วย มาตรา ๑๔ สำนักงานเลขาธิการกลาง และมาตรา ๑๕ สำนักงานเลขาธิการ

          หมวด ๖ ค่าใช้จ่าย ประกอบด้วย มาตรา ๑๖ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ

          หมวด ๗ ภาษาทางการ ประกอบด้วย มาตรา ๑๗ ภาษาที่ใช้เป็นทางการในที่ประชุม

          หมวด ๘  การเสนอแก้ไข ประกอบด้วย มาตรา ๑๘ การเสนอแก้ไขกฎบัตร

          ที่ผ่านมา ในการประชุม IPAIT ครั้งที่ ๒ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ สมาคมฯ เห็นพ้องให้มีการแก้ไขกฎบัตร IPAIT จำนวน ๒ มาตรา คือ มาตรา ๓ และมาตรา ๑๗ มีรายละเอียดดังนี้

 

มาตรา ๓ เพิ่มวรรคท้ายคือ “ให้รัฐสภาของแต่ละประเทศกำหนดหน่วยงาน IPAIT ประจำรัฐสภา (National Chapter)  ทั้งนี้ เพื่อให้มีส่วนร่วมและสร้างความต่อเนื่องในกิจการงานของ IPAIT มากขึ้น” เหตุผลในการเพิ่มข้อความให้มีหน่วยงาน  IPAIT ประจำรัฐสภาในรัฐสภาของแต่ละประเทศนี้ ก็เพื่อให้หน่วยงาน IPAIT ประจำรัฐสภาสามารถทำหน้าที่จัดการงานของสมาคมฯ ในการประชุมสมัชชาใหญ่ รวมทั้งติดตามโครงการที่ได้วางแผนการดำเนินงานตามปฏิญญากรุงเทพฯ  และข้อตกลงที่ทำขึ้นตามแถลงการณ์ร่วม  และนอกจากนี้ หน่วยงาน  IPAIT ประจำรัฐสภาจะทำหน้าที่ดำเนินการในเรื่องเว็บไซต์ของ IPAIT และแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมถึงสานต่อความคิดเห็นในเรื่องสำคัญต่าง ๆ

 

มาตรา ๑๗ เป็นบทมาตราที่ว่าด้วยภาษาทางการของ IPAIT นั่นก็คือ ภาษาอังกฤษและภาษาทางการของประเทศเจ้าภาพ โดยมาตรา ๑๗ เดิมระบุว่าเอกสารทั้งหมดให้ร่างเป็นภาษาทางการดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ดี หากการตีความและความหมายยังแตกต่างกันอยู่ ก็ให้พิจารณาโดยการใช้การตีความและความหมายในภาษาอังกฤษ ในการแก้ไขครั้งนี้ได้เพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับภาษาทางการว่าภาษาทางการที่เห็นสมควรจะถูกนำไปใช้ในการสร้างเว็บเพจของเว็บไซต์ทางการของรัฐสภาแต่ละประเทศ ทั้งนี้ เหตุผลในการเพิ่มข้อความดังกล่าวก็เพื่อต้องการให้เว็บไซต์รัฐสภาของประเทศสมาชิก IPAIT จัดทำขึ้นเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจและสามารถใช้ข้อมูลหรือทราบถึงกระบวนการทางด้านรัฐสภาและกิจการอื่น ๆ ของประเทศสมาชิกIPAIT นั้นๆ ได้

 

๕. ค่าใช้จ่าย

 

ตามกฎบัตร หมวด ๖ ว่าด้วยค่าใช้จ่าย มาตรา ๑๖ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ระบุว่า ให้ประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมเป็นผู้รับผิดชอบ โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวครอบคลุมถึงค่าโรงแรมที่พักด้วย

 

๖. ภาษาทางการ

 

ตามกฎบัตร ว่าด้วยภาษาทางการ มาตรา ๑๗ ภาษาที่ใช้ในการประชุมระบุว่าเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาที่ประเทศเจ้าภาพใช้ รวมถึงภาษาที่ใช้ในการผลิตเอกสารการประชุมด้วย

 
Last Update: Aug 27,2009
 
 


สงวนลิขสิทธิ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
1111 ถ. สามเสน แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ 10300 หมายเลขโทรศัพท์ 02 242 5900 ต่อ 5601
(สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 5661 (สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชั้น 3), ต่อ 7301 (สำนักภาษาต่างประเทศ ชั้น 3 )

จำนวนผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์

วันที่เริ่มเผยแพร่ 5 กันยายน 2559