|
|
วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม 2567 เวลา 14.10 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจาก น.ส.วาสนา เก้านพรัตน์ ประธานเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย และคณะ เรื่อง เสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎร ในการสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย เด็ก เยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นต่อสภาผู้แทนราษฎร ผ่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เพื่อสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1567(2) ซึ่งบัญญัติให้ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปกฎหมายเพื่อห้ามการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็กส่งเสริมการการสร้างวินัยเชิงบวก ไม่ใช้ความรุนแรงต่อเด็กทุกรูปแบบประเทศไทยได้ลงนามในภาคยานุวัติสารเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2535 และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2535 ในประเด็นเรื่องความรุนแรงต่อเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ข้อ 19 กำหนดว่ารัฐภาคีจะดำเนินมาตรการที่เหมาะสมทั้งปวง ด้านนิติบัญญัติ บริหาร สังคมและการศึกษาในอันที่จะคุ้มครองเด็กจากรูปแบบทั้งปวงของความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กประเทศไทยเข้าร่วมกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Universal Periodic Review : UPR ) รอบที่ 1 ประเทศไทยอมรับข้อเสนอเสนอแนะที่ให้เพิกถอนการลงโทษทางร่างกายต่อเด็กในทุกสถานที่ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับคำแนะนำในกระบวนการ UPR รอบที่ 2 ในปี พ.ศ. 2556 ให้พิจารณาห้ามการลงโทษทางกายทุกรูปแบบต่อเด็กไม่ว่าในสถานที่ใดก็ตาม คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมส่วนหนึ่งเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของบิดามารดาและบุตร ในการทำโทษทางกายภายในครอบครัว ซึ่งไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเข้าเป็นรัฐภาคี และแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก จึงสมควรให้กำหนดลักษณะการทำโทษบุตรของผู้ใช้อำนาจปกครองโดยไม่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย จึงขอเสนอความเห็นที่ได้รวบรวมมาจากการระดมความคิดเห็นในเวทีสัมมนา เพื่อสนับสนุนให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า สภาผู้แทนราษฎรมีความยินดีอย่างยิ่งที่เครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย ได้มายื่นหนังสือในวันนี้ (23 ก.ค. 67) โดยจะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลไปประกอบในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ทั้งนี้ ขอสนับสนุนร่างดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก และกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ อาจจะมีการจัดสัมมนาให้กับบุคลากรของรัฐสภา เพื่อช่วยกันรณรงค์ในมิติต่าง ๆ ต่อไป |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|